นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 66 ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการจัดตั้งธุรกิจในประเทศ โดยมียอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 85,300 ราย เพิ่ม 8,812 ราย หรือเพิ่ม 12% จากปี 65 ที่มี 76,488 ราย ถือเป็นยอดจดทะเบียนตั้งใหม่สูงสุดในรอบ 10 ปีนับจากปี 57 คิดเป็นเงินทุนจดทะเบียน 562,469.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132,640.83 ล้านบาท หรือ 31% จากปี 65 ที่มีทุน 429,828.81 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร, ธุรกิจให้คำปรึกษา ด้านการบริหารจัดการอื่นๆ, ธุรกิจตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต, ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร, ธุรกิจขายปลีกสินค้า, ธุรกิจจัดนำเที่ยวและธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป “การจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ที่มี 85,300 รายเป็นไปตามที่คาดการณ์ เป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากปี 65 บวกกับการกระตุ้นด้านต่างๆของรัฐบาล ทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐขนาดใหญ่ ที่กลับมาเดินหน้าก่อสร้าง หลังจากล่าช้าช่วงโควิด-19 และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ทำให้ธุรกิจบริการได้รับความนิยมในการจัดตั้งธุรกิจ ทั้งธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภัตตาคาร/ ร้านอาหาร”
สำหรับการลงทุนของต่างชาติ ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 พบว่า ปี 66 อนุญาต 667 ราย เพิ่ม 84 ราย หรือ 14% จากปี 65 ที่อนุญาต 583 ราย เงินลงทุน 127,532 ล้านบาท ลดลง 1,242 ล้านบาท หรือลด 1% จากปี 65 และจ้างงานคนไทย 6,845 คน เพิ่ม 1,592 ราย หรือ 30% จากปี 65 โดย 10 ประเทศแรกที่ลงทุนมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น 137 ราย ทุน 32,148 ล้านบาท ตามด้วยสิงคโปร์ 102 ราย ทุน 25,405 ล้านบาท, สหรัฐฯ 101 ราย ทุน 4,291 ล้านบาท, จีน 59 ราย ทุน 16,059 ล้านบาท, ฮ่องกง 34 ราย ทุน 17,325 ล้านบาท, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร และไต้หวัน
นางอรมน กล่าวต่อว่า แนวโน้มปี 67 คาดว่าการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่อยู่ที่ 90,000-95,000 ราย เพิ่มขึ้น 5-10% จากปี 66 และคาดจะมีนักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 130,000-140,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5-15% เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวตามคาดการณ์ที่ 2.7-3.7%.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่