การบริหารจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าของทุกประเทศ มีความสำคัญกับการวางแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า เพราะหากจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสมจะสามารถชะลอการเพิ่มของความ ต้องการใช้พลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และส่งผลทางอ้อมในการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้า
ประเทศไทย หลังโควิด-19 ผ่านพ้นไป แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้จะต้องเร่งสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้ารองรับในระยะยาว โดยเฉพาะการมีแผนการผลิตไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสมและเพียงพอ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ขับเคลื่อนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ Power Development Plan (PDP) ที่เดิมแผนพัฒนาฯ มีการคาดการณ์จากเกณฑ์การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) อยู่ที่ 15-25% ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2539 เพราะขณะนั้นระบบไฟฟ้าและเศรษฐกิจในประเทศยังเติบโตไม่มากนัก
ล่าสุด แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าของคนไทย มีพฤติกรรม รูปแบบ หรือลักษณะการใช้เปลี่ยนไปจากอดีต ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ หรือวางแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้เกณฑ์กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป เพราะปัญหาของการใช้เกณฑ์วัด กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอีกอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น พลังงานหมุนเวียนดังกล่าวเราไม่สามารถควบคุมการผลิตในส่วนนี้ได้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ที่ช่วงเวลากลางวันมีการผลิตไฟฟ้าสูง แต่ช่วงเวลากลางคืนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้
แม้ว่าก่อนหน้านี้เราอาจไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่อง จากเดิมประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้า สูงสุด (พีก) อยู่ที่เวลากลางวัน แต่ปีที่ผ่านมาพีกของระบบเกิดขึ้นในเวลากลางคืน เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2566 เวลา 21.41 น. อยู่ที่ 34,827 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดในประวัติการณ์จากเดิมจุดสูงสุด ที่ 28,000 เมกะวัตต์
โดยมีสาเหตุมาจากเวลากลางคืนในช่วงที่ผ่านมาสภาพอากาศมีความร้อนอบอ้าวรุนแรง ซึ่ง สนพ.ประเมินว่า การใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดในปริมาณมากๆ ในปี 2570 เพราะมาจากการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้อีวี เนื่องจากผู้ใช้นิยมชาร์จไฟฟ้ากับรถยนต์ในเวลากลางคืน
ล่าสุด ยังพบว่ายอดการใช้ไฟฟ้า 9 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มี 153,932 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 และการใช้ไฟฟ้า 42% อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้น 6.2% ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 8.4%
เมื่อ “พีก” เปลี่ยนเป็นช่วงเวลากลางคืนเช่นนี้ การที่จะยังคงใช้เกณฑ์วัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมาวัดความมั่นคง ทำให้เริ่มวัดยากขึ้น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในปี 2566-2580 กระทรวงพลังงาน จึงจะนำเกณฑ์วัดที่เรียกว่า “เกณฑ์ในการเกิดโอกาสไฟฟ้าดับ” หรือ LOLE มาประกอบกับเกณฑ์การวัดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองควบคู่กัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เริ่มมากขึ้นเพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำ
“LOLE” หรือภาษาไทยเรียกว่า ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation) เป็นการพิจารณาในเชิงเทคนิคและเชิงวิชาการ ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในระดับสากล เช่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่มีการใช้เกณฑ์ดังกล่าวที่วัดได้ทุกช่วงเวลา โดย LOLE เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในการวางแผนเชิงความน่าจะเป็น (Probabilistic Planning) โดยค่า LOLE คือค่าดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในรอบ 1 ปี ที่คำนวณจากผลรวมของค่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดไฟฟ้าดับ ในแต่ละชั่วโมงตลอด 1 ปี โดยคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก
วิธีการตามแนวทาง LOLE ได้รับการยอมรับในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯได้กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.1 วัน/ปี เกาหลีใต้ กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 0.3 วัน/ปี หรือมาเลเซีย กำหนดเกณฑ์ LOLE ไม่เกิน 1 วัน/ปี
ทั้งนี้ สนพ.ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาพบว่าควรใช้เกณฑ์ LOLE ในระดับไม่เกิน 0.7 วันต่อปี เพื่อความเหมาะสมในการมาวางแผนกำลังผลิตไฟฟ้า ซึ่งข้อดีของ LOLE คือมีการพิจารณาความมั่นคงของระบบที่ครอบคลุมตลอดทุกช่วงเวลา คำนึงถึงสมรรถนะการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และลักษณะของความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Profile) และจากสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จึงมีการทบทวนเกณฑ์ LOLE ที่เหมาะสมทั้งในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีความต้องการระดับความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกัน
การเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ แบบ LOLE สำหรับภาคประชาชน จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะประเทศไทย ได้มีการใช้เกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้ง “เกณฑ์กำลังไฟฟ้าผลิตสำรอง” และ “เกณฑ์ในการเกิดโอกาสไฟฟ้าดับ LOLE” ควบคู่กันในการวางแผนระบบไฟฟ้ามานานกว่า 10 ปีแล้ว.
เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร
คลิกอ่านคอลัมน์ "THE ISSUES" เพิ่มเติม