กลายเป็นอุปสรรคเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติม สำหรับนโยบายเรือธงของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน สำหรับ “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” หรือการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งไทม์ไลน์การแจกเงินล่าสุด ถูกวางไว้ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2567
ก่อนปรากฏข่าวใหญ่วันนี้ว่า การแจกเงินอาจไม่ทันช่วงเดือน พ.ค.นี้ ตอกย้ำเหตุการเลื่อนประชุมของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่าน Digital Wallet ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ อย่างไม่มีกำหนด
เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล เข้ามาให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอให้ถูกต้องและครบถ้วน ก่อนเดินหน้าโครงการแจกเงินที่ต้องผ่านด่านสำคัญ การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ท่ามกลางกระแสข่าวว่า รัฐบาลอาจลดขนาดเหลือ 3 แสนล้านบาท แต่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง
เจาะหนังสือของ ป.ป.ช. ร่างข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ความยาว 117 หน้า ซึ่งใจความเข้าใจง่ายๆ คือ ป.ป.ช. มีความกังวลว่า พ.ร.บ.กู้เงิน อาจเสี่ยงขัดต่อข้อกฎหมาย และยืนยันว่า “เศรษฐกิจไทย” ยังไม่วิกฤติ
อีกทั้ง ป.ป.ช. ยังได้หยิบยกตัวบ่งชี้วิกฤติทางเศรษฐกิจ ตามนิยามของธนาคารโลก ให้รัฐบาลศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม เพราะนี่คือตัวชี้วัดจับชีพจรว่า เศรษฐกิจเกิดวิกฤติจริงหรือไม่ เนื่องจากคำว่า วิกฤติเศรษฐกิจ ถูกรัฐบาลหยิบยกขึ้นมาว่าเป็นเหตุผลความจำเป็น ที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 (30 กันยายน 2566) แล้ว ไม่อยู่ในความหมาย “วิกฤติทางเศรษฐกิจ” ตามคำนิยามข้างต้น ทั้ง 7 ประเภท
โดยมีตัวอย่างเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก เช่น วิกฤติค่าเงิน เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 วิกฤติเงินเฟ้อเคยเกิดขึ้นปี ค.ศ. 1990 ในประเทศบราซิล (2,000%/ต่อปี) และปี ค.ศ. 2008 ในประเทศซิมบับเว
ที่มา : หนังสือ ป.ป.ช.
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney