กดค่าไฟฟ้าปีนี้ 3.60 บาท ส.อ.ท.ยื่น 5 แผนให้รัฐบาลปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

กดค่าไฟฟ้าปีนี้ 3.60 บาท ส.อ.ท.ยื่น 5 แผนให้รัฐบาลปล้ำผีลุกปลุกผีนั่ง

Date Time: 16 ม.ค. 2567 09:05 น.

Summary

  • ส.อ.ท.เตรียมยื่นข้อเสนอรัฐบาล ดูแลค่าไฟฟ้าระยะเร่งด่วนในปีนี้ วางเป้าหมายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย ผ่านการบริหาร 5 แนวทางหลัก เพื่อทำให้แผนระยะกลางและระยะยาวไปสู่เป้าหมายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาท/หน่วย เน้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เปิดตลาดไฟเสรี ฯลฯ

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายดูแลราคาพลังงาน ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แต่ทางออกของค่าไฟฟ้าจะต้องเดินหน้าแก้ไขที่ต้นเหตุ ที่มีเป้าหมายระยะสั้น (ระยะเร่งด่วน) ระยะกลาง และระยะยาว โดย ส.อ.ท.ได้จัดทำแนวทางเพื่อเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาล 2 แนวทางหลักได้แก่ 1.เร่งแก้ไขระยะเร่งด่วนเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดปีนี้ไม่เกิน 3.60 บาท/หน่วย 2.แก้ไขปัญหาระยะกลางและยาวเพื่อให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยไม่เกิน 3 บาท/หน่วย

สำหรับแนวทางระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 5 เรื่องสำคัญๆ ได้แก่ 1. การขับเคลื่อนเชิงรุกที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องวางแนวทางบริหารเชิงรุก โดยยึดประโยชน์ ค่าครองชีพของภาคประชาชน และเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะที่ กกพ.การพิจารณาค่าเอฟทีที่ขาดการปรับปรุงข้อมูลค่าพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้ง การเปิดรับฟังความเห็นเนื้อหาเข้าใจยาก ขาดการมีส่วนร่วม จึงต้องพิจารณาให้เกิดความถูกต้อง เปิดเผยและตรวจสอบได้

2.บทบาทรัฐวิสาหกิจควรสร้างความเข้มแข็ง ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในทุกด้าน เพื่อช่วยดูแลสภาพคล่องทางการเงิน เช่น ให้ กฟผ.ชะลอส่งเงินเข้ากระทรวงการคลัง ฯลฯ, ให้ กฟผ.ดูแลหน่วยงานระบบส่ง หรือ System Operator (S.O.) เช่นเดิม, การสรรหาผู้ว่า กฟผ.ควรปราศจากการแทรกแซง 3.ควรแก้ไขด้านปริมาณ (Supply) ไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการ (Demand) ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ควรลดมาร์จิน (กำไร) และยืดเวลาการจ่ายโดยสัญญาใหม่ควรลดผลตอบแทนลง, ไม่เร่งผลิตปริมาณไฟฟ้าโดยทบทวน แผนพลังงานแห่งชาติ

4.ส่งเสริมและปลดล็อกพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม โดยควรสนับสนุนทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยครัวเรือนควรผลักดันมาตรการทางการเงินและการคลังสนับสนุน ภาคธุรกิจ ควรยกเว้นขอใบอนุญาตโรงงานประเภท ที่ 4 (รง.4) โดยพิจารณาเฉพาะความปลอดภัยและโครงสร้างอาคาร

5.ปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ (NG) เพื่อลดมาร์จินของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และการลดราคาค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติให้เป็นธรรม, เพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาทั้งก๊าซธรรมชาติและ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG), ทบทวนค่าผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะท่อที่คุ้มทุนแล้ว, กำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าทุกประเภทให้เป็นราคาเดียวกันกับผู้ผลิตขนาดใหญ่ (ไอพีพี) , นำเข้าแอลเอ็นจีจากประเทศที่มีราคาถูกและเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาให้มาก ที่สุด เป็นต้น

“แนวทางแก้ไขปัญหาระยะกลางและระยะยาวเพื่อค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3 บาท/หน่วย ประกอบด้วย 2 แนวทางหลักได้แก่ 1.เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา (OCA) โดยยึดหลักความมั่นคงทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความมั่นคงเรื่องเขตแดน 2.เร่งเปิดระบบตลาดเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และลดผูกขาดใดๆ สำหรับการเปิดตลาดเสรีไฟฟ้าที่รัฐบาลจะต้องมีระบบ Smart Grid & Smart Meter หรือการเปิดให้มีการขายไฟฟ้าแบบระหว่างบุคคล (P2P)”.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ