นายกฯฝาก ธปท.ลดดอกเบี้ย “กิตติรัตน์” ดึงสติหยุดทำลายกำลังซื้อที่อ่อนแอ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

นายกฯฝาก ธปท.ลดดอกเบี้ย “กิตติรัตน์” ดึงสติหยุดทำลายกำลังซื้อที่อ่อนแอ

Date Time: 9 ม.ค. 2567 08:03 น.

Summary

  • “เศรษฐา” ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย สวนทางเงินเฟ้อติดลบ “กิตติรัตน์” ชี้ประชาชนจับตาการประชุม กนง. 7 ก.พ.นี้ ลดดอกเบี้ย จี้ ธปท.กำกับธนาคารพาณิชย์หลังกำไรพุ่ง ย้ำธนาคารพาณิชย์ควบคุมตัวเองไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบายก็ได้

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยขณะที่เงินเฟ้อไทยติดลบติดต่อหลายเดือนว่า เราพูดคุยกันตลอดในเรื่องนี้และเรื่องขึ้นดอกเบี้ย จุดยืนของตนชัดเจนว่า “ไม่เห็นด้วย” แต่ท่านก็มีอำนาจขึ้น ซึ่งนัยที่ตนโพสต์ข้อความไปมันเกี่ยวกับสินค้าเกษตร พืชผลต่างๆที่อยากให้กระทรวงพาณิชย์ดูแล ไม่ให้ราคาต่ำ เพราะถ้าต่ำเกินไปจะลำบาก ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่เงินเฟ้อไทยต่ำมาก นายกฯมีความกังวลอย่างไรนั้น นายเศรษฐากล่าวว่า “บอกว่าต่ำมากครับ ดังนั้น อาจต้องพิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย ก็ฝากไว้” เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะคุยกับผู้ว่าฯ ธปท.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “มีอยู่แล้วครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลางดึกวันที่ 7 ม.ค.66 นายกฯได้โพสต์ผ่าน X และเฟซบุ๊กว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายเดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอี ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับเงินเฟ้อนะครับ”

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ ไทยแลนด์ เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย การทำหน้าที่ของ ธปท. และกำไรของธนาคารพาณิชย์ ว่า วันที่ 7 ก.พ.นี้ จะประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องจับตาว่า จะพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยอย่างไร หากเอาการวิจารณ์นั้นไปคิดให้รอบคอบก็จะดีมาก แต่หากนำมาเป็นทิฐิก็น่าเสียใจ

ทั้งนี้ กนง.จะประชุมปีละ 6 ครั้ง แต่กฎหมายกำหนดว่าให้ประชุมนอกรอบได้หากจำเป็น เร่งด่วนและสำคัญ แต่เดิมประชุมปีละ 8 ครั้ง ซึ่งดีกว่า เพราะมีความถี่ของระยะเวลาที่จะตัดสินใจ หลายประเทศชั้นนำยังประชุม 8 ครั้ง

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า โดยข้อกฎหมายตรงๆหน่วยงานที่กำกับธนาคารพาณิชย์มีความเป็นอิสระ แต่ขณะนี้สังคมเห็นชัดว่าการกำกับดูแลที่ไม่เป็นคุณกับประชาชน ควรถูกตำหนิ ผู้กำกับดูแล ซึ่งก็คือ ธปท. ต้องทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาล ผู้กำกับธุรกิจต้องส่องกระจกดูตัวเอง อย่าให้ถึงขั้นต้องทำอะไรกันเลย

“ผมไม่ได้ออกมาตามกระแส ได้พูดเรื่องนี้มาก่อนตั้งรัฐบาลแล้ว ไม่เคยหยุดพูดเลย เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้นเป็นโอกาสในการทำรายได้ที่สูงขึ้นของธนาคารพาณิชย์ ดอกเบี้ยเงินกู้ขยับเร็วกว่าและมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก กรณีของสถาบันการเงิน ไม่ค่อยมีคนอยากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเป็นลูกค้าของธนาคารกันทั้งนั้น กลัวผลกระทบในเชิงลบ แต่ในความจริงก็เห็นอยู่ว่าท่านมีหน้าที่ต้องกำกับดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน”

นายกิตติรัตน์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงต้นทุนสินค้าสูง ไม่สามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อได้ เพราะเงินเฟ้อมี 2 แบบ คือเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนสินค้า ซึ่งต้นทุนนั้นอาจมาจากผลกระทบในอีกซีกโลกหนึ่งที่ทำให้ราคาสินค้า ราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุน (Cost Push inflation) การขึ้นดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะดอกเบี้ยก็เป็นต้นทุนชนิดหนึ่ง

แต่หากเงินเฟ้อเกิดจากอุปสงค์ร้อนแรง (Demand Pull Inflation) การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของการจับจ่ายของประชาชนเข้าใจได้ ซึ่งตนมองเห็นตั้งแต่กลางปีที่แล้วว่า การขึ้นดอกเบี้ย ทำให้กำลังซื้ออ่อนแอ และยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่ลง การขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนเกินความพอดีไปมาก ถึงเวลาที่ต้องออกมาพูดบ้าง

“ผมไม่ได้หิวแสง แต่อยากพูดเตือนสติเตือนใจรุ่นน้องว่า ไม่ใช่แค่ยึดหลักควบคุมเงินเฟ้อ เพราะมันทำลายกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่แล้ว จนกระทั่งเงินเฟ้อติดลบแล้ว การกำหนดกรอบเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ 1-3% เวลาเงินเฟ้อจะเกิน 3% จะเข้ามารีบจัดการ เพราะว่าตั้งตนเป็นผู้รักษาวินัยทางการเงินของประเทศ แต่เมื่อเงินเฟ้อลงไปต่ำกว่า 1% แล้วถือว่าบกพร่อง ก็ถือว่ามีความรับผิดชอบเหมือนกัน”

นอกจากนี้ ที่ต้องวิจารณ์คือ แม้ว่า ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ของตัวเองก็ได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เป็นผู้ใช้เงินทุนจากธนาคารกลาง แต่เป็นผู้ให้ธนาคารกลางกู้เงิน เพราะเป็นผู้ถือพันธบัตรของ ธปท. ซึ่งเคยตั้งคำถามว่า ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ยไม่สงสารลูกค้าตัวเองบ้างหรือ ธนาคารพาณิชย์ก็ต้องรู้จักคุมตัวเอง สมาคมธนาคารไทยก็ต้องปรึกษาหารือกันว่าสมควรขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้สื่อข่าวประจำ ธปท.ได้ติดต่อขอความเห็นจาก ธปท.ในประเด็นนี้ แต่ได้รับการชี้แจงว่ายังไม่ขอแสดงความเห็นใดๆ.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ