สร้างสถานีขนส่งกรุงเทพใหม่ "สุริยะ" ผุดโปรเจกต์ยักษ์หนุนเดินทางไร้รอยต่อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สร้างสถานีขนส่งกรุงเทพใหม่ "สุริยะ" ผุดโปรเจกต์ยักษ์หนุนเดินทางไร้รอยต่อ

Date Time: 6 ม.ค. 2567 06:15 น.

Summary

  • “สุริยะ” ผุดแผนพัฒนา “สถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่” เน้นสร้างอาคารสูง–มิกซ์ยูส เชื่อมสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หนุนการเดินทางแบบไร้รอยต่อของรถโดยสารและระบบราง ตามโมเดลญี่ปุ่น พร้อมยกระดับ บขส. ให้บริการคล้ายสนามบิน สร้างรายได้ ใช้ประโยชน์พื้นที่เต็มประสิทธิภาพ คาดแล้วเสร็จใน 4 ปี

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยกรณีที่มีการเผยแพร่ปัญหาของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในด้านคุณภาพของชานชาลา บันไดเลื่อน ไฟฟ้าส่องสว่าง ป้ายบอกทาง การเชื่อมต่อการเดินทาง จุดดับเพลิง และห้องพยาบาล รวมถึงห้องให้นมบุตรว่า ล่าสุดได้สั่งการให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เร่งแก้ปัญหาโดยทันที เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ บขส.ได้แก้ปัญหาบางส่วนแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขปัญหาบันไดเลื่อนเก่า ซึ่งอาจใช้เวลา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและปลอดภัยสูงสุด โดย บขส.อยู่ระหว่างการออกแบบให้เหมาะสม ทั้งด้านจำนวน และตำแหน่ง รวมถึงติดตั้งพัดลมระบายอากาศในพื้นที่ชานชาลาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังรับทราบปัญหาการเดินทางไปยังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่เข้าถึงยาก และใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงปัญหาคุณภาพของอาคาร จึงได้เตรียมแนวทาง และแผนดำเนินการแก้ปัญหาสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง ที่สนับสนุนให้การเดินทางในระยะใกล้ไม่เกิน 200 กิโลเมตร (กม.) ใช้ระบบขนส่งรอง (Feeder) เช่น รถ บขส. เพื่อไปเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบรางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นระบบหลักของการเดินทางระยะไกลมากกว่า 200 กม.

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ยังมีแนวคิดพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ เพราะสถานีขนส่งหมอชิต 2 เป็นสถานีชั่วคราว ที่ย้ายมาจากหมอชิตเดิม โดยจะพัฒนาเป็นอาคารสูงที่เชื่อมต่อกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้อย่างสะดวก และมีอาคารแยกให้บริการแต่ละแนวเส้นทาง เช่น อาคารเส้นทางสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ สายตะวันออก

“การพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ จะออกแบบให้ผู้โดยสารเดินเท้าเชื่อมต่อระหว่างอาคารกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยอุโมงค์ หรือทางเดินที่มีหลังคาคลุม นอกจากนั้นการให้บริการของรถ บขส. จะต้องเป็นรูปแบบเดียวกันกับสนามบิน หรือใช้ประตูทางออกร่วมกัน (Shared Gate) เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพ โดยรถ บขส. จะเข้ามารับผู้โดยสารตามเวลาที่กำหนด และออกจากสถานีภายในเวลา เพื่อให้การให้บริการในเส้นทางอื่นๆ สามารถเข้ามาใช้ Gate ต่อเนื่องได้”

ขณะเดียวกัน จะต้องไม่มีอู่จอดรถในพื้นที่อาคาร โดยรถที่ให้บริการจะเข้ามารับ - ส่งผู้โดยสารตามเวลาเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของพื้นที่ และลดมลพิษ ที่สำคัญคือ จะพัฒนาอาคารเป็น Mixed Use โดยออกแบบอาคารให้ใช้ร่วมกัน เช่น ใช้พื้นที่ชั้นล่างเป็นสถานีรถโดยสาร และพัฒนาพื้นที่ชั้นบนเป็นสำนักงาน รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งจัดให้มีพื้นที่รอคอย และพื้นที่ซื้อตั๋วในตัวอาคาร พร้อมทั้งป้ายแสดงข้อมูลรถที่จะเข้าชานชาลาต่างๆ ในลักษณะ Shared Gate เหมือนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ คาดจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี และใช้งบประมาณสูง โดยเฉพาะการจัดหาที่ดินมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่า บขส. มีทรัพย์สินในการบริหารจัดการ และมีสภาพคล่องทางการเงินนำมาใช้พัฒนาได้ มั่นใจว่าจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน

“รูปแบบการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ ได้หยิบยกโมเดลจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ณ สถานีฮากาตะ ที่พัฒนาสถานีโดยสารเป็นอาคารสูง และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟได้อย่างสมบูรณ์แบบ สถานีโตเกียว ที่พัฒนาสถานีโดยสารให้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโตเกียว เป็นต้น”

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย.67 นั้น กระทรวงเตรียมแผนรองรับการเดินทางของผู้โดยสารไว้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามความผิดแล้ว รวมถึงทำความสะอาดห้องน้ำทั้งหมด และสั่งการให้ บขส. ติดตั้งไฟส่องสว่างให้ครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณ พร้อมทั้งเตรียมเปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า เช่นเดียวกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 67 ซึ่งช่วยลดความแออัดของประชาชนได้เป็นอย่างดี.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ