นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามและศึกษาสถานการณ์เศรษฐกิจครัวเรือนภาคเกษตร เพื่อยกระดับและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 63-65 รายได้ครัวเรือนเกษตรของไทยเติบโตอ่อนแรง เนื่องจากหนี้สินสูงขึ้นและปัจจัยการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ปี 65 ไทยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 17.37 ล้านล้านบาท แต่เป็นจีดีพีที่มาจากภาคเกษตร 1.53 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.81% เท่านั้น ขณะที่ไทยใช้พื้นที่ทำการเกษตร 149.75 ล้านไร่ มีแรงงานภาคเกษตร 11.63 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 29.31% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด แต่เกษตรกรไทยส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 58.46 ปี
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ารายได้ที่ครัวเรือนได้รับจากกิจกรรมทางการเกษตร ขยายตัว 3.81% ต่อปี ต่ำกว่ารายจ่ายที่ขยายตัวสูงกว่า 6.30% ต่อปี เพราะต้นทุนปัจจัยการผลิตในภาคเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะหนี้สินยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และรายได้สุทธิที่นำรายได้หักรายจ่ายลดลง 0.25% ทรัพย์สินหดตัว 8.19%
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบปี 65 กับปี 64 พบว่ารายได้ที่ครัวเรือนได้รับจากกิจกรรมทางการเกษตร ขยายตัว 10.28% แต่ภาวะหนี้สินของเกษตรกรก็ขยายตัวเช่นกันที่ 3.49% ส่วนเงินสดคงเหลือก่อนการชำระหนี้หดตัว 2.52% และทรัพย์สินติดลบ 36.11% สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 3 ปี “จากผลศึกษาพบว่า ภาคเกษตรไทยมีผลผลิตต่ำ แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงและอายุเฉลี่ยเพิ่ม มีปัญหาการบริหารจัดการน้ำเรื้อรัง ต้นทุนการผลิตสูงและต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งยังขาดความรู้ด้านการแปรรูปและการเก็บรักษา ตลอดจนปัญหาด้านการค้าและการตลาด”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่