ลดภาษีสุราพื้นบ้าน ไวน์ สถานบันเทิง ปรับเกณฑ์คืนแวต คาดรายได้นักท่องเที่ยวเพิ่ม 2,900 ล้านบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ลดภาษีสุราพื้นบ้าน ไวน์ สถานบันเทิง ปรับเกณฑ์คืนแวต คาดรายได้นักท่องเที่ยวเพิ่ม 2,900 ล้านบาท

Date Time: 2 ม.ค. 2567 19:44 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ครม.ไฟเขียวลดภาษีสุราพื้นบ้าน ไวน์ สถานบันเทิง ปรับเกณฑ์คืนแวตหนุนท่องเที่ยว คาดรายได้เพิ่ม 2,900 ล้าน สินค้าราคาต่ำกว่า 20,000 บาท ไม่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร หิ้วของขึ้นเครื่องเพิ่มวงเงินเป็น 1 แสนบาท ขึ้นไปจากเดิม 5 หมื่นบาท

Latest


ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (2 มกราคม 2567) คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อนำไปสู่การเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และชาวไทยทุกระดับ และเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงได้อย่างยั่งยืน โดยประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังต่อไปนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มสินค้าสุรา สถานบันเทิง และยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์  

เพื่อจูงใจด้านราคาให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยวหย่อนใจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้


1.1 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพพสามิต สินค้าสุรา

ซึ่งประกอบด้วย


ไวน์ และฟรุ๊ตไวน์ ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) 


- สุราแช่ชนิดไวน์ และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (Wine) 

โดยอัตราภาษีใหม่ตามมูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 5 และตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 


- สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่น หรือไวน์องุ่น (Fruit Wine) 

โดยอัตราภาษีใหม่ตามมูลค่าอยู่ที่ร้อยละ 0 และตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 

สุราแช่ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีใหม่ โดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้


- สุราแช่พื้นบ้าน อาทิ อุ กระแช่ สาโท และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีใหม่ตามมูลค่าร้อยละ 0 และตามปริมาณที่ 150 บาท 


- สุราแช่ที่มีสุรากลั่นผสม และมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี

โดยกำหนดอัตราภาษีใหม่ตามมูลค่าร้อยละ 10 และตามปริมาณที่ 255 บาท 


- สุราแช่อื่นๆ กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 10 และตามปริมาณที่ 150 บาท 

1.2 ลดภาษีสถานบันเทิง


โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่าจากอัตราร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 5 ของรายรับสถานบันเทิง 

ประเภทที่ 17.01 ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลานจ์ รวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ที่มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. 


ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน รจ. ถึง 31 ธ.ค. 67 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 จะกลับมาใช้อัตราภาษีตามมูลค่าเดิม คือ ร้อยละ 10)

1.3 ยกเว้นภาษีนำเข้าไวน์


ปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดให้ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ทุกชนิดตามประเภทพิกัด 22.04 (ไวน์ที่ทำจากองุ่นสด และเกรปมัสต์) และ 22.05 (เวอร์มุท และไวน์อื่นๆ ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืชหรือสารหอม) รวมทั้งสิ้น 21 ประเภทย่อย จากอัตราภาษีเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 60

2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists)

เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 โดยหลักเกณฑ์ใหม่มีรายละเอียดดังนี้


- ปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 75


- ปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากร 9 รายการ (Luxury Goods) ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อป หรือแท็บเล็ต กระเป๋า (ไม่รวมกระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และปรับเพิ่มมูลค่าของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป


ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยล่าสุด อยู่ที่ 28 ล้านคน สำหรับปี 2567 หลายหน่วยงานประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ที่ 34-35 ล้านคน โดยชุดมาตรการดังกล่าว คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้นักท่องเที่ยวประมาณ 2,900 ล้านบาท และจะเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจาก 43,255 บาท ซึ่งเป็นประมาณการเดิมที่ยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการ มาอยู่ที่ 43,400 บาท หลังประกาศใช้มาตรการแล้ว ซึ่งมากกว่าประมาณการในปี 2566 ที่ 42,750 ล้านบาท 

นอกจากนี้ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิ 401 ล้านบาทต่อปี และ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์