นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือน พ.ย.66 ไทยมีมูลค่าส่งออก 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.9% เทียบเดือน พ.ย.65 ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 847,486.1 ล้านบาท ลดลง 0.2% ส่วนการนำเข้า 25,879.1 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 10.1% คิดเป็นเงินบาท 944,873.4 ล้านบาท เพิ่ม 4.8% มีดุลการค้าขาดดุล 2,399.4 ล้านเหรียญฯ หรือ 97,387.3 ล้านบาท
ขณะที่ช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 66 การส่งออก 261,770.3 ล้านเหรียญฯ ลด 1.5% เทียบช่วงเดียวกันปี 65 คิดเป็นเงินบาท 9.013 ล้านล้านบาท ลด 1.8% การนำเข้า 267,935.5 ล้านเหรียญฯ ลด 3.8% คิดเป็นเงินบาท 9.341 ล้านล้านบาท ลด 4.3% ขาดดุลการค้า 6,165.3 ล้านเหรียญฯ หรือ 327,928.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ เดือน พ.ย.66 การส่งออกไทย และประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญของโลก กลับเข้าสู่แดนบวกแล้ว อย่างเกาหลี เพิ่ม 7.7% เวียดนาม เพิ่ม 6.9% สิงคโปร์ เพิ่ม 5.9% ไทย เพิ่ม 4.9% ไต้หวัน เพิ่ม 3.8% จีน เพิ่ม 0.5% แต่ในช่วง 11 เดือนทุกประเทศยังลบอยู่ แต่เป็นอัตราที่ลดลง ซึ่งไทยติดลบน้อยสุดที่ 1.5% ขณะที่เกาหลีใต้ ลบ 8.5% เวียดนาม 5.9% สิงคโปร์ ลบ 8.0% ไต้หวัน ลบ 11.5% จีน ลบ 5.2% อินเดีย ลบ 5.2% มาเลเซีย ลบ 10.8% อินโดนีเซีย ลบ 11.8% แสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น
“เดือน ธ.ค.66 ถ้าส่งออกได้มูลค่า 23,000 ล้านเหรียญฯตามที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้ตัวเลขส่งออกทั้งปีนี้ติดลบ 0.8% ต่ำกว่าที่คาดไว้ที่ลบ 1.5% แต่ถ้าดูสถิติย้อนหลัง 5 ปีเฉพาะเดือน ธ.ค. ทำให้เฉลี่ย 22,000 ล้านเหรียญฯ ก็จะทำให้ทั้งปีติดลบ 1% แต่ถ้าจะเป็น 0% เดือน ธ.ค.ต้องได้มากถึง 25,654 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเป็นไปได้ยาก”
สำหรับปัญหาการส่งออกผ่านทางทะเลแดง ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก เพราะผู้ส่งออกไทยได้เร่งส่งออกสินค้ารองรับเทศกาลปลายปีแล้วตั้งแต่เดือน ต.ค.66 แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ จะมีผลกระทบการส่งออกเดือน ม.ค.67 ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะหารือร่วมกับสายการเดินเรือ วันที่ 26 ธ.ค.66 เพื่อติดตามสถานการณ์ และขอความร่วมมือพิจารณาการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม และค่าระวางเรืออย่างเป็นธรรม ในระดับเหมาะสม อย่าฉวยโอกาส
ส่วนเป้าหมายการส่งออกปี 67 เบื้องต้นได้กำหนดไว้ที่ขยายตัว 2% จากปี 66 หลังจากที่ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลกแล้ว แต่ตัวเลขเป้าหมายจริง ต้องรอผลการส่งออกเดือน ธ.ค.66 ก่อน จากนั้นจะประเมินปัจจัยภายใน ภายนอก และกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นทางการ
นายกีรติกล่าวอีกว่า การส่งออกเดือนพ.ย.66 ที่เพิ่มขึ้น 4.95 เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 4.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 7.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 1.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 3.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญ หลายตลาดเพิ่มขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่บางตลาดยังคงมีความไม่แน่นอน ท่ามกลางการชะลอตัวของภาคการผลิตโลก โดยตลาดสหรัฐฯ เพิ่ม 17.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 4.3% และอาเซียน (5) เพิ่ม 12.9% แต่จีน สหภาพยุโรป (27) และ CLMV ลด 3.9%, 5.0% และ 7.6% ตามลำดับ เป็นต้น.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่