ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงนโยบายจัดการแก้หนี้ทั้งระบบ โดยยกเป็น วาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไขให้จบภายใน 4 ปี และมีการวางแนวทางแก้หนี้เป็นกลุ่มๆ อย่างชัดเจน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อัปเดตความคืบหน้ามาตรการแก้หนี้ในระบบ โดยกระทรวงการคลังได้แบ่งลูกหนี้ในระบบออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วยมาตรการแก้ปัญหา 10 มาตรการ โดยประชาชนสามารถติดต่อรับการช่วยเหลือ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 2 มาตรการ
1.1. มาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
• ช่วยใคร : ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 หรือลูกหนี้ NPL รหัส 21
• ช่วยอย่างไร : ติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ตามสมควร ตามด้วยการช่วยเหลือแก่ลูกหนี้เพื่อให้ไม่เป็น NPLs หรือหมดภาระหนี้สินตามโครงการฯ
• ติดต่อใคร : ธนาคารออมสิน / ธ.ก.ส.
1.2. มาตรการพักหนี้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19
• ช่วยใคร : ลูกหนี้ SMEs ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็น NPLs รหัส 21 ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66
• ช่วยอย่างไร : ปรับโครงสร้างหนี้ให้ SMEs ผ่อนได้อย่างน้อย 3 เดือน และลูกหนี้จะได้รับการพักชำระต้นเงินไม่เกิน 1 ปี รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
• ติดต่อใคร : ธนาคารออมสิน / ธ.ก.ส. / ธอส. / ธนาคารอิสลามฯ / SME Bank / EXIM / บสย.
กลุ่มที่ 2 มีรายได้ประจำ แต่ภาระหนี้เกินกำลังจ่าย จำนวน 4 มาตรการ
2.1. โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ
• ช่วยใคร : ลูกหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ของส่วนราชการ
• ช่วยอย่างไร : ออมสินสนับสนุนสภาพคล่องให้สหกรณ์ที่ต้องการช่วยสมาชิก
เพื่อเสริมสภาพคล่องและนำไป “ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษกับลูกหนี้” และ “รีไฟแนนซ์หนี้รายย่อยจากออมสินไปรวมหนี้เป็นหนี้สหกรณ์”
• ติดต่อใคร : ธนาคารออมสิน
2.2. โครงการสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการและบุคลากรภาครัฐอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
• ช่วยใคร : ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ
• ช่วยอย่างไร : ข้าราชการและบุคลากรภาครัฐสามารถขอสินเชื่อสวัสดิการ “อัตราดอกเบี้ยพิเศษ” ได้แก่ 1) สินเชื่อเคหะ (ซื้อหรือต่อเติมซ่อมแซมที่อยู่อาศัย) 2) สินเชื่อสวัสดิการ (สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น) และ 3) สินเชื่ออเนกประสงค์
• ติดต่อใคร : ธนาคารออมสิน
2.3. โครงการคลินิกแก้หนี้สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
• ช่วยใคร : ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้เสีย
• ช่วยอย่างไร : เจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด จะนำเงินต้นคงค้างทำตาราง
ผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 ตามเงื่อนไข
• ติดต่อใคร : คลินิกแก้หนี้โดยบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM)
2.4. มาตรการช่วยเหลือให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอดำรงชีพ
• ช่วยใคร : ข้าราชการ
• ช่วยอย่างไร : ผลักดันการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ข้าราชการในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลืออย่างน้อยร้อยละ 30 ให้พอต่อการดำรงชีพ
• ติดต่อใคร : ส่วนราชการต้นสังกัด
กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน จำนวน 3 มาตรการ
3.1. มาตรการพักหนี้เกษตรกร
• ช่วยใคร : เกษตรกร
• ช่วยอย่างไร : พักหนี้เกษตรกร หนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท
• ติดต่อใคร : ธ.ก.ส.
3.2. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้ลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์
• ช่วยใคร : ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้ลีสซิ่ง
• ช่วยอย่างไร : กระทรวงการคลัง ธปท. ผลักดันให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ออกประกาศเพื่อช่วยลูกหนี้เช่าซื้อ โดย “กำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ กำหนดเพดานดอกเบี้ยผิดนัด ลดดอกเบี้ยเมื่อนำเงินมาปิดบัญชี”
• ติดต่อใคร : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
3.3. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ.
• ช่วยใคร : ลูกหนี้ กยศ.
• ช่วยอย่างไร : ปรับโครงสร้างหนี้ / กำหนดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี และเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี / ปรับลำดับการหักเงิน เป็นเงินต้น-ดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ / ยกเลิกผู้ค้ำประกันการกู้ยืม / ปรับเงื่อนไขสามารถชำระหนี้แบบรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีได้
• ติดต่อใคร : กยศ.
กลุ่มที่ 4 กลุ่มหนี้เสียเรื้อรัง จำนวน 1 มาตรการ
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง SFIs และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.)
• ช่วยใคร : ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย
• ช่วยอย่างไร : จัดตั้งกิจการร่วมทุนระหว่าง SFIs และ บบส. (JV AMC) โอนหนี้บางส่วนของ SFIs ไปยัง JV AMC โดยการปรับโครงสร้างหนี้หรือตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ เพิ่มความคล่องตัวในการช่วยเหลือลูกหนี้ และเพิ่มความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้
• ติดต่อใคร : สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
ที่มา : กระทรวงการคลัง