นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกวันละ 2-16 บาท หรือ 2.37% มาอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 345 บาทตามมติคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำว่า จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มากนักเพียง 0.13-0.25% ขึ้นอยู่กับการใช้จำนวนแรงงาน และสภาพการแข่งขันของแต่ละสินค้า หากแข่งขันน้อย และใช้แรงงานมาก ก็อาจต้องขึ้นราคาสินค้ามาก แต่หากใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนด้านอื่นๆ แทน อาจขึ้นราคาสินค้าน้อย
“สินค้าและบริการที่มีแนวโน้ม ได้รับผลกระทบสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อาหารสำเร็จรูป ข้าว การสื่อสาร ผักสด ผลไม้สด เพราะมีสัดส่วนสูงคำนวณเงินเฟ้อ และเกี่ยวข้องกับภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น”
ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้อำนาจซื้อของแรงงาน ขั้นต่ำดีขึ้น มีผลทำให้เงินเฟ้อในภาพรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นการปรับให้ทุกอย่างดีขึ้น ส่วนความกังวลเรื่องการปรับค่าจ้าง จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งพบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการ สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่