นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองซอฟต์พาวเวอร์ไทยว่า กรมจะเร่งดำเนินการส่งเสริม และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และป้องกันไม่มีการละเมิดได้ โดยจะนำร่องที่กีฬามวยไทยก่อน และล่าสุด ได้เสนอต่อคณะอนุกรรมการด้านกีฬา ที่มีนายพิมล ศรีวิกรณ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ แล้ว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมใช้ทรัพย์สินทางปัญญาต่อยอดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้กับกีฬาเจ็ตสกี โดยคนไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จัดการแข่งขัน และถ่ายทอดสดเจ็ตสกี เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ ในชื่อทัวร์นาเมนต์ WGP ไปทั่วโลก ซึ่งได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในชื่อทัวร์นาเมนต์ไว้แล้ว ล่าสุด จัดแล้ว 4 ครั้ง ประสบความสำเร็จมาก มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน และร่วมชมจากทั่วโลก สร้างรายได้เข้าประเทศได้จำนวนมาก “จะใช้โมเดลเดียวกันนี้กับมวยไทย และจะจดทรัพย์สินทางปัญญาชื่อทัวร์นาเมนต์มวยไทยด้วย นอกจากนี้ จะนำสินค้าที่เกี่ยวข้องมาจดเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร รวมถึงแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เช่น ท่าร่ายรำในการไหว้ครูแบบประยุกต์ ขณะนี้ ทุกอย่างอยู่ระหว่างดำเนินการ”
ด้านนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ว่า มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ในประเทศต่างๆ สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละประเทศว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างไร เพื่อนำมาจัดทำแผนการทำตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเตรียมของบประมาณดำเนินการสำหรับปีงบ 68 ซึ่งจะต้องส่งเสริม และผลักดันให้เข้มข้นมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับการส่งเสริม และผลักดันสินค้าต่างๆ เพื่อให้มีอิทธิพลต่อการชื่นชอบความเป็นไทยในหมู่ผู้บริโภคต่างชาติที่กรมดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ เกมและแอนิเมชัน เพลง การ์ตูนและคาแรกเตอร์ ฯลฯ รวมถึงสินค้าที่เกิดจากอิทธิพลของซอฟต์พาวเวอร์ไทยในรูปแบบต่างๆ เช่น อาหารไทย มวยไทย อย่างอาหารไทยก็มีร้านอาหารไทย ซีเลกต์ (Thai SELECT) จำนวนมากทั่วโลก นอกจากจะช่วยให้ส่งออกอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส ได้แล้ว ยังส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของประดับและตกแต่งร้านสไตล์ไทยๆ
ส่วนนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวภายหลังหารือกับนางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่า จะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากร้านอาหารไทยซีเลกต์ และสินค้าชุมชนที่ได้คุณภาพ มาตรฐาน (สมาร์ท โลคอล) ในการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น รวมถึงสร้างความตระหนักรู้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
“จะร่วมกันผลักดันอาหารไทย และสินค้าสมาร์ท โลคอล เป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยกรมมีร้านอาหารไทย ซีเลกต์ ทั่วประเทศ 370 ร้าน ซึ่งมีเสน่ห์ความเป็นเอกลักษณ์ไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่วนสินค้าชุมชนก็มีอยู่ทั่วประเทศ โดยจะประชาสัมพันธ์ร่วมกับเส้นทางท่องเที่ยว เพื่อสร้างความประทับใจและขยายตลาดให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ อาหารไทยเป็นที่รู้จัก และชื่นชอบจากคนทั่วโลกอยู่แล้ว ไม่ยากที่จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวรู้จักและลิ้มลองรสชาติเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้เกิดกระแสนิยมอาหารไทย และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก”
สำหรับแผนดำเนินการ กรมเตรียมจัดกิจกรรม ได้แก่ 1.แคมเปญส่งเสริมการตลาด เช่น แคมเปญ “เที่ยว ฟิน กิน ไทย ซีเลกต์” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังซอฟต์พาวเวอร์อาหารไทย การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับสินค้าชุมชน และธุรกิจในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน 2.ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน จัดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ประชาสัมพันธ์แนะนำแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก คู่กับสินค้าชุมชน และร้านอาหารพื้นถิ่น เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า 3.เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ รวมทั้งจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง ร้านอาหารไทย ซีเลกต์ ในทุกภูมิภาค.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่