นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบและรับทราบการเร่งรัดการลงทุนในอีอีซี โดย ได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และมอบให้ สกพอ., บีโอไอ, กนอ. จัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) ของประเทศไทย โดยได้มีการเจรจาถึงแนวทางการเป็นศูนย์กลางรับรองนักลงทุน หรือผู้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุน ประชาสัมพันธ์มาตรการส่งเสริมการลงทุน และเข้าเจรจากับผู้ที่สนใจเข้าลงทุน เพื่อเพิ่มเม็ดเงินการลงทุนในพื้นที่
“กรณีที่มีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ จึงได้พิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น โดยได้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของภาครัฐและอำนวยความสะดวกด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อการอุตสาหกรรม ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนและระยะเวลาการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)”
ทั้งนี้ จะเชิญกรมโยธาธิการและผังเมือง มาร่วมเสนอแนะแนวทางปฏิบัติในการจัดทำผังเมืองใหม่ระดับอำเภอ ให้สอดคล้องกับแผนผังอีอีซี โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเชิญ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมเสนอแนะปรับปรุงขั้นตอนการจัดทำรายงาน อีไอเอนิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนอุตสาห กรรม เป้าหมายพิเศษ ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานว่าได้เร่งดำเนินการ โครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการหลัก (EEC Project Lists) ให้เสร็จตามแผนงานที่กำหนด
ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่ประชุมเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ส่วนที่เหลือ ช่วงพญาไท-บางซื่อ ในเดือน พ.ค.2567 ขณะที่พื้นที่อื่น มีความพร้อมสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์ (TOD) แล้ว อยู่ระหว่างเอกชนคู่สัญญาส่งเอกสารไปที่บีโอไอ เพื่อรับบัตรส่งเสริมการลงทุนซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเร่งรัดเอกชนคู่สัญญาให้ดำเนินการให้เสร็จในเดือน ม.ค.2567
2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ได้ให้กองทัพเรือประกาศจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ ในเดือน ธ.ค. พร้อมทั้งให้ สกพอ., รฟท. และเอกชนคู่สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา สรุปแผนงานร่วมกัน เพื่อให้เงื่อนไขการเริ่มต้นโครงการครบถ้วนสมบูรณ์
3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย เร่งและกำกับการก่อสร้างงานถมทะเล ให้แล้วเสร็จและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนคู่สัญญาเดือน พ.ย.2568 คาดว่าการก่อสร้างโครงสร้างท่าเรือในส่วนท่าเรือ F1 จะเปิดให้บริการได้ปลายปี 2570
4.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่ประชุมมีมติให้ กนอ. ติดตามการถมทะเลของเอกชนคู่สัญญาให้แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.นี้ เป็นต้น.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่