เปิดข้อเสนอเอกชน "ทางรอดธุรกิจ" สะท้อนภาพสถานการณ์วิกฤติ "เหล็กไทย"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

เปิดข้อเสนอเอกชน "ทางรอดธุรกิจ" สะท้อนภาพสถานการณ์วิกฤติ "เหล็กไทย"

Date Time: 11 ธ.ค. 2566 06:35 น.

Summary

  • ปี 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะฟื้นตัวต่อเนื่อง กำลังซื้อของคนไทยเริ่มกลับมา แต่สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ปีนี้ถือเป็นปีที่ไม่น่าพิสมัย

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

ปี 2566 ที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมจะฟื้นตัวต่อเนื่อง กำลังซื้อของคนไทยเริ่มกลับมา แต่สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ปีนี้ถือเป็นปีที่ไม่น่าพิสมัย

เพราะมีทั้งปัญหาปัจจุบันที่รุมเร้า กระทบภาคการผลิตให้ลดลงอย่างรุนแรง และยังมีปัญหาข้างหน้าที่ต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และนโยบายการรักษาสภาวะแวดล้อมของโลกตะวันตก เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้

ถือว่าไม่เกินเลยไปที่จะบอกว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยวันนี้อยู่ใน “สถานการณ์วิกฤติ”

จนเกิดกระแสข่าวใหญ่การปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดของบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย เพราะไม่สามารถสู้กับการทุ่มตลาดอย่างรุนแรงจากเหล็กต่างประเทศ และการต่อสู้กับโรงงานจีนที่ย้ายฐานมาผลิตสินค้าเหล็กในประเทศไทย และส่งผลให้หลายฝ่ายต่างกังวลว่าจะลุกลามขยายตัวยิ่งขึ้น จนกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวม

“ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์บุคคลในแวดวงอุตสาหกรรมเหล็กมีความเห็นและข้อเสนอทางออกของอุตสาหกรรมเหล็กไทยเพื่อสู้วิกฤตินี้อย่างไร

นาวา จันทนสุรคน

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ผมได้ย้ำถึง “วิกฤติอุตสาหกรรมเหล็ก” ของประเทศไทยมาแล้วตั้งแต่กลางปี 2566 จากความต้องการใช้เหล็กของไทยที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อยราว 1.0% จากปี 2565 แต่การผลิตเหล็กภายในประเทศลดลงรุนแรงกว่า จากข้อมูลเดือน ม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยตกต่ำสุดเหลือเพียง 28.2% เท่านั้น แย่ที่สุดในอาเซียน และถือเป็นระดับวิกฤติ เมื่อเทียบกับการใช้กำลังการผลิตเหล็กของโลกเฉลี่ยที่ราว 75%”

นาวา จันทนสุรคน
นาวา จันทนสุรคน

สาเหตุหลักๆมาจาก 1.สินค้าเหล็กนำเข้าทุ่มตลาดจากต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กจากจีน เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในจีนแย่ลงจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่โรงงานเหล็กจีนกลับเพิ่มปริมาณการผลิตมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายปี

“ประเทศไทยก็เป็นเป้าหมายถูกทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากจีนด้วย โดยในปี 2566 การนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีอะลูมิเนียมและแมกนีเซียมแบบจุ่มร้อน (Hot-Dip Zinc-Aluminium-Magnesium : ZAM) ซึ่งเป็นเหล็กทดแทนจากจีน ที่หลบเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty) เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (Hot-Dip Galvanizing : GI) มายังไทย มีแนวโน้มปริมาณมากเกิน 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นมากถึง 50% จากปี 2565”

2.บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และอุตสาหกรรมของจีนที่ได้งานโครงการต่างๆในไทยทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ที่เป็นโครงการ

ร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP) มักนำเข้าเหล็กจากจีนมาใช้ แทนที่จะใช้เหล็กที่ผลิตในไทย เรายังถูกโรงงานเหล็กจากจีนที่ย้ายฐานมาตั้งในไทยแย่งส่วนแบ่งตลาดไปอีกมาก โดยโรงงานจีนที่ย้ายฐานจากจีนที่มาตั้งในอาเซียน ขณะนี้มีกำลังการผลิตเหล็กราว 20 ล้านตันต่อปี และล่าสุดโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน ซึ่งมีกำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี กำลังจะเริ่มการผลิตในไทย

“หลายโรงงานเหล็กของไทยพยายามต่อสู้และพัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว แต่ด้วยเงื่อนไขการค้าที่ไม่เป็นธรรม ก็ทำให้บางโรงงานหมดแรงจนสู้ต่อไม่ไหว ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจ ของอุตสาหกรรมเหล็กไทย และน่ากังวลต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย”

โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เผยแพร่งานวิจัยว่าการผลิตเหล็กในไทยที่หายไป ทุกๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ลดลง 0.19% และอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กจะลดลง 1.2% ขณะที่ทิศทางความต้องการใช้เหล็กของโลก อาเซียน และไทย สมาคมเหล็กโลก (World Steel Association) คาดการณ์ความต้องการใช้เหล็กโลกในปี 2566 เท่ากับ 1,814.5 ล้านตัน เติบโตขึ้น 1.8% จากปีก่อน และปี 2567 จะเพิ่มเป็น 1,849.1 ล้านตัน เติบโตขึ้น 1.9% ความต้องการใช้เหล็กในอาเซียนฟื้นตัวปี 2566 เพิ่ม 3.8%และจะเติบโต 5.2% ในปี 2567 จากความต้องการภายในประเทศดีขึ้นและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

สำหรับประเทศไทยความต้องการใช้เหล็กในปี 2566 ราว 16.7 ล้านตัน ถดถอย 1.0% ซึ่งแย่กว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ตลอดจนกระทรวงเศรษฐกิจ จะสามารถแก้ไขปัญหาที่ท้าทายของประเทศไทยให้มีทิศทางที่เป็นบวกและดีขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ และความต้องการใช้เหล็กกระเตื้องขึ้นไปมากกว่า 17 ล้านตัน ซึ่งจะดึงการใช้กำลังการผลิตเหล็กในประเทศให้พ้นวิกฤติได้

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของไทยให้ไปสู่อนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Green Steel แต่จำเป็นต้องมีแนวทางมาตรการระยะสั้นถึงกลาง 8 ประการ ที่ขอเสนอต่อรัฐบาลเพื่อช่วยรักษาอุตสาหกรรมเหล็กของไทยให้สามารถอยู่รอดผ่านวิกฤติไปได้ในช่วงนี้ก่อน

1.ภาครัฐต้องไม่ลังเลที่จะตอบโต้การค้าเหล็กที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) การตอบโต้การอุดหนุนตลาด (Countervailing Duty) การตอบโต้การเลี่ยงอากรต่างๆ (Circumvention) ตลอดจนแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และทันการยิ่งขึ้น โดยประเมินว่าเหล็กจากประเทศจีนที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ทำให้ไทยสูญเสียรายได้กว่าหมื่นล้านบาทต่อปี

2.เร่งรัดให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand) อย่างจริงจังและขยายผล ไม่เพียงแค่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น แต่ให้ส่งเสริมไปถึงโครงการ PPP ด้วย 3.การสงวนเศษเหล็กภายในประเทศสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กของไทย เพื่อลดภาระและปริมาณการนำเข้าเศษเหล็ก ซึ่งปัจจุบันยังต้องพึ่งพิงและนำเข้าเศษเหล็กจากต่างประเทศราว 2 ล้านตันต่อปี

4.เข้มงวดควบคุมเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม ซึ่งมีแนวโน้มปริมาณการนำเข้าปี 2566 มากกว่าปีก่อน 80% ขึ้นไป ตลอดจนการเร่งรัดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กประเภทนี้เพื่อคุ้มครองผู้ใช้

5.การขยายเวลามาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต หรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้น เนื่องจากโรงงานประเภทนี้ ในไทยใช้กำลังการผลิตจริงเพียง 28.5% เท่านั้น 6.ห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อน เพราะไทยมีกำลังการผลิตแล้ว 8.9 ล้านตันต่อปีในปัจจุบัน และจะเพิ่มเป็น 14.5 ล้านตันต่อปี ทั้งที่ช่วง 5 ปีนี้ มีการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนจริง 2-3 ล้านตันต่อปี

7.การควบคุมและตรวจสอบให้มั่นใจว่าโรงงานเหล็กที่ย้ายฐานมาจากจีนทำตามกฎหมายต่างๆอย่างถูกต้อง ได้แก่ การผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) การรายงานข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานตามที่กฎหมายกำหนด การจ้างแรงงานต่างด้าว เนื่องจากปัจจุบันมีบางโรงงานน่าสงสัย เสมือนเป็นโรงงานเหล็กสีเทา และ 8. เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้ทันต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ ได้แก่ การปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนสหภาพยุโรป (CBAM) โดยต้องสนับสนุนการปรับเปลี่ยนและพัฒนากระบวนการผลิต หรือการใช้เทคโนโลยีอื่นที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันได้

วิน วิริยประไพกิจ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

ที่ผ่านมา 10 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วย สมาคมโลหะไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย สมาคมเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สมาคมพัฒนาสเตนเลสไทย สมาคมชุบสังกะสีไทย สมาคมหลังคาเหล็กไทย รวม 510 บริษัท มีการจ้างงานโดยตรง 51,000 คน และจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 2 แสนคน ได้หารือกันอย่างเคร่งเครียด และชี้ให้เห็นถึงปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะมาตลอด

วิน วิริยประไพกิจ
วิน วิริยประไพกิจ

เพราะแม้ภาคเอกชนได้ปรับ และพัฒนาในหลายๆด้าน และภาครัฐก็ได้สนับสนุนในหลายมาตรการ แต่ก็ยังไม่ทันการณ์เพื่อตอบโต้ปัญหาเดิมจากการทุ่มตลาดของเหล็กต่างประเทศ รวมถึงการแย่งตลาดจากโรงงานเหล็กจีนที่ย้ายฐานมาไทย แล้วยังมีปัญหาความท้าทายใหม่ของอุตสาหกรรมเหล็กในอนาคตอีกด้วย

นายวิน ได้ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กที่มั่นคง และเริ่มต้นพัฒนาประเทศด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ได้แก่ การสนับสนุนเงินลงทุนและดอกเบี้ย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การถมทะเลเพื่อเป็นนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก การวางระบบคมนาคมขนส่ง การจัดระบบส่งกำลังไฟฟ้า และน้ำ เป็นต้น ซึ่งเมื่ออุตสาหกรรมเหล็กของประเทศเติบโต เข้มแข็ง จะเป็นแกนหรือฐานสำคัญยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ

“อุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าความยากลำบากซ้ำซ้อน 2 ชุดใหญ่ คือ ชุดปัญหาปัจจุบัน คือ การแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในมิติต่างๆ และยังมีชุดปัญหาใหม่ คือ การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเหล็กไปสู่โลกคาร์บอนต่ำ”

โดยปัจจุบัน เราเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งจากทุนใหญ่จากจีน การกีดกันทางการค้าจากกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งอเมริกา และสหภาพยุโรป รวมทั้งความเป็นธรรมจากเหล็กด้อยมาตรฐาน และสินค้าต่างมาตรฐานจากต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีอุปสรรคโครงสร้างต้นทุนพลังงานของไทยที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ขาดความมั่นคงทางวัตถุดิบสำหรับการผลิตเหล็ก เพราะยังไม่มีโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ และเศษเหล็กในไทยมีไม่เพียงพอ การใช้กำลังการผลิตต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยผลิตยิ่งสูง และภาระหนี้สินจากการลงทุนที่ผ่านมา

ขณะที่ ยังมีชุดปัญหาใหม่ คือ การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมเหล็กไปสู่โลกคาร์บอนต่ำ ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีใหม่สำหรับกระบวนการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Steel) การได้มาซึ่งพลังงานสะอาดบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ความขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ ความไม่แน่นอนของตลาดว่าจะตอบรับ Green Steel มากน้อยและเร็วช้าแค่ไหน การอุดหนุนและการกีดกันทางการค้าจากกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว และภาระการลงทุนรอบใหม่เพื่อการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้

อุตสาหกรรมเหล็กของไทยวันนี้ จึงอาจมีทิศทางไปได้ใน 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ปล่อยไปตามสภาพปัจจุบันที่เสมือนการแข่งขันมั่ว ซึ่งเหล็กไทยยากที่จะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ แนวทางที่ 2 มุ่งพัฒนาเหล็กไทย ตลาดไทย ภายใต้การกำหนดกฎกติกาของไทยโดยเฉพาะ เพื่อการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ การป้องกันทางการค้าไม่เป็นธรรมจากประเทศที่อุดหนุนหรือทุ่มตลาดสินค้าเหล็ก การมีมาตรฐานเหล็กไทยที่เฉพาะเจาะจง และมีกฎกติกาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละกลุ่ม (Segment) สินค้าเหล็ก

แนวทางที่ 3 เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยพัฒนาไปสู้ในเวทีระดับโลกได้ จำเป็นต้องได้รับ การยกเครื่องอย่างเป็นระบบในทุกมิติ โดยมีรัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง มีการส่งเสริมหรืออุดหนุนในด้านต่างๆที่จำเป็นจากภาครัฐ การสร้างมาตรฐานสินค้าเหล็กที่เป็นสากล การปรับแก้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารในส่วนของการใช้เหล็กที่เป็นสากล การส่งเสริมโดยปรับมาตรฐานวิชาชีพวิศวกรรมโยธาและอื่นๆให้ทันสมัยต่อการใช้โครงสร้างเหล็ก การเปิดเสรีอุตสาหกรรมพลังงาน และการสนับสนุนการลงทุนทางวัตถุดิบจากต่างประเทศที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กสมัยใหม่

และที่สำคัญแผนแม่บทอุตสาหกรรมเหล็กไทยควรสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และแก้ปัญหาการคุกคามรุนแรงจากมหาอำนาจอุตสาหกรรมเหล็กอย่างจีน โดยมุ่งไปสู่การผลิตเหล็กที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้ง 4 ภาคส่วน คือ

ภาคที่ 1 ภาคเอกชน โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกันบริหารกำลังการผลิตในภาพรวม การมีนิยามและเป้าหมายร่วม Green Steel และแผนแม่บทสู่เหล็กสีเขียว การแก้โจทย์ด้านวัตถุดิบ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม 2.ภาครัฐ โดยกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาตลาดพลังงาน-ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยมีรัฐสนับสนุนทางตรงและทางอ้อมในพลังงานทดแทน เทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ไฮโดรเจนที่ผลิตโดยพลังงานสะอาด (Green Hydrogen) สร้างกติกาตลาดไทย มาตรฐาน Green Steel มลพิษแฝง อาคารที่ออกแบบและก่อสร้างโดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Net Zero Building) ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การสนับสนุนทางการเงินโดยตรง

ภาคที่ 3 ภาคธนาคาร และตลาดทุน เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้พลังงานฟอสซิล จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากธนาคารและตลาดทุนด้านเงินทุน เพื่อนำไปลงทุนด้านเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านธุรกิจให้ทันท่วงทีกับกติกาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ โดยมีกติกาด้านการเงินและภาษีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Taxonomy) และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) และท้ายที่สุด 4.ภาคลูกค้า ซึ่งต้องยอมรับตลาดสินค้า Green Steel อย่างจริงจังและแพร่หลาย

โดยหากทุกฝ่ายร่วมกัน ก็จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้พ้นวิกฤติได้ในอนาคต.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่าน “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ