ธปท.ชี้การบริโภค-ลงทุนในประเทศ ดัน “เศรษฐกิจ” ฟื้นตัว คาด GDP ไตรมาส 4 โต 3.7%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ธปท.ชี้การบริโภค-ลงทุนในประเทศ ดัน “เศรษฐกิจ” ฟื้นตัว คาด GDP ไตรมาส 4 โต 3.7%

Date Time: 30 พ.ย. 2566 18:21 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผย เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยได้แรงหนุนหลักจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน แต่การท่องเที่ยว และส่งออก พลิกหดตัว คาด GDP ไตรมาส 4/2566 โต 3.7% จากการขยายตัวของภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว

Latest


นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัวตาม โดยได้แรงหนุนหลักจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ภาคบริการชะลอลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำลดลง หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ 


เมื่อดูการบริโภคภาคเอกชนเดือนตุลาคมพบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% จากเดือนก่อนซึ่งหดตัวที่ -1.3%  โดยขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก ยกเว้นการใช้จ่ายในหมวดบริการที่ปรับลดลงจากหมวดโรงแรม และภัตตาคาร สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทย และต่างชาติ ที่ลดลง โดยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง


ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชน ปรับเพิ่มขึ้น 1.4% จากเดือนก่อนซึ่งหดตัวลงที่ -1.6% โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักร และอุปกรณ์เพิ่มขึ้น จากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และการนำเข้าสินค้าทุน ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้นตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง


แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว รวม 10 เดือนแรก 22.2 ล้านคน 


ด้านสถานการณ์การท่องเที่ยวในเดือนตุลาคม พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวลง-1.4 % มาอยู่ที่ 2.2 ล้านคน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ 5.6% โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.1 ล้านคน 


ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เร่งเดินทางมาไทยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ชะลอการเดินทางเพื่อรอวันหยุดพิเศษในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ทางการได้ประกาศเพิ่มเติม


อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวบางสัญชาติปรับดีขึ้น เช่น จีน ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่า และกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร และเยอรมนี ทั้งนี้ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-สิ้นเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ 22.2 ล้านคน


สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวชะลอลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยว และอัตราการเข้าพักแรมที่ลดลง การท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงส่งผลให้ดัชนีผลผลิต ภาคบริการหดตัวลง จากเดือนก่อนเล็กน้อยที่ -0.3%


ส่งออกติดลบต่อเนื่อง 


มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนตุลาคม (ไม่รวมทองคำ) พบว่า ลดลง -1.4% จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ 4.8% โดยมีการหดตัวในหลายหมวด ได้แก่

  1. การส่งออกเครื่องประดับไปฮ่องกง หลังเร่งไปในเดือนก่อนที่มีงานจัดแสดงสินค้า
  2. สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ลดลงตามรอบการส่งมอบสินค้า และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงตามการส่งออกไปสหรัฐฯ และฮ่องกง 
  3. สินค้าเกษตร ตามการส่งออกผลไม้ไปจีน สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตที่หดตัวลง-2.1% จากเดือนก่อนหน้า


อย่างไรก็ตามการส่งออกบางหมวดยังขยายตัวได้ เช่น การส่งออกในหมวดยานยนต์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการส่งออกรถกระบะไปออสเตรเลีย และการส่งออกปิโตรเลียมไปอาเซียน 


สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ -0.31% ลดลงจาก 0.30% ในเดือนก่อนหน้า การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบโลก ประกอบกับหมวดอาหารสดลดลงจากฐานสูงในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อน

ธปท.ประเมินทิศทางเงินบาทยังอ่อนค่า-GDPไตรมาส 4 โตเพิ่ม


ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในเดือนตุลาคม พบว่า เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง เป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย คือ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ เนื่องจากตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน รวมถึงความไม่แน่นอนของผลกระทบสงครามอิสราเอล-ฮามาส ขณะที่ค่าเงินบาทในเดือนพฤศจิกายนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ หลังจากที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ตลาดปรับลดโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานาน

นางสาวชญาวดี ประเมินว่า GDP เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.7% จากประมาณการ GDP ทั้งปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 2.4% การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ที่ 3.7% เป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปี 2565 รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และส่งออกที่ขยายตัว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์