นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถิตินักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยสะสมนับตั้งแต่ 1 ม.ค.-20 พ.ย.66 รวมอยู่ที่ 2,979,557 คน เป็นรองจากมาเลเซียเท่านั้น โดยทั้งปี 66 ตั้งเป้าตลาดจีนเที่ยวไทยรวมทั้งสิ้น 4.04-4.4 ล้านคน และตั้งเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 226,240-246,400 ล้านบาท แต่คาดว่าจะสามารถทำได้จริงทั้งปี 66 มีนักท่องเที่ยวจากจีนรวม 3.4-3.5 ล้านคน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 56,000 บาท สร้างรายได้ราว 190,400-196,000 ล้านบาท ส่วนปี 67 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทย 8.2 ล้านคน สร้างรายได้ 451,800 ล้านบาท
นายฉัททันต์กล่าวว่า นักท่องเที่ยวจีนที่ เดินทางเข้าไทยครึ่งแรกปี 66 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเข้ามาเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) 86% กรุ๊ปทัวร์ 14% เทียบกับปี 62 ที่เข้ามาแบบกรุ๊ปทัวร์ 60% เอฟไอที 40% เท่านั้น โดยเห็นการเข้ามาเที่ยวในเมืองรองเพื่อพักผ่อนมากขึ้น ไม่ได้เน้นเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือใช้จ่ายกับการช็อปปิ้งเป็นหลักเหมือนเดิมแล้ว ชื่นชอบการรับประทานอาหารไทย นวดและสปา ชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ กิจกรรมชายหาดและแสงสียามค่ำคืน โดยจังหวัดที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาท่องเที่ยว 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี หนองคาย ประจวบคีรีขันธ์ และสตูล
นายฉัททันต์กล่าวว่า เมื่อปี 62 นักท่องเที่ยวจีนออกเดินทางกว่า 155 ล้านคน ใน 3 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ส่วนปี 66 เดินทางออกนอกประเทศเพียง 40.3 ล้านคน ไทยเป็นประเทศปลายทางอันดับ 1 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยพบว่าช่วงวันหยุดยาวพิเศษ (โกลเด้นวีก) ของจีนระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-7 ต.ค.66 มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทย รวม 135,954 คน เทียบกับช่วงหลังหมดวันหยุดยาว มีนักท่องเที่ยวลดลง 36% สอดคล้องกับ Ctrip เว็บไซต์จัดการท่องเที่ยวออนไลน์ (โอทีเอ) ที่รายงานว่ายอดจองการเดินทางมาไทยลดลง 40% ซึ่งเป็นสัดส่วนการลดลงของนักท่องเที่ยวตามปกติหลังช่วงหยุดยาว
นายฉัททันต์กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับปี 62 นักท่องเที่ยวจีน มีวันพักเฉลี่ย 7.88 คืน เพิ่มขึ้น 1.6 คืน และมีค่าใช้จ่าย 50,052 บาทต่อคนต่อทริป บวกกว่า 13.6% อ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มผู้ใช้บริการ Alipay โดยยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านที่พัก ในปี 66 มีจำนวน 20,000 บาทต่อคนต่อวัน เพิ่มขึ้นมา 9,000 บาท หากเทียบกับปี 62 ที่อยู่ 11,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 80% โดยวันพำนักที่เพิ่มขึ้นแม้เป็น 1 วันกว่าๆ แต่ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก เนื่องจากจะเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งในแง่การจองโรงแรมที่พัก อาหารการกินหรือบริการต่างๆ นอกจากนี้ ททท.จะจัดกิจกรรมตลาดจีน เพื่อเน้นการส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวก อาทิ จัดกิจกรรมร่วมกับ Social Media Douyin โดยเชิญอินฟลูเอนเซอร์ (KOL/KOC) ที่มีชื่อเสียงบนแพลตฟอร์มร่วมเดินทางมาไทยและนำเสนอคอนเทนต์เชิงบวกเกี่ยวกับประเทศไทย “นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยลดลง ติดข้อจำกัดหลายสาเหตุ โดยเฉพาะจำนวนเที่ยวบินที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ รวมถึงการแข่งขันของฮ่องกงและมาเก๊า แต่หากเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญอาทิ ญี่ปุ่น หรือคู่แข่งที่เน้นราคาถูกอย่างเวียดนาม นักท่องเที่ยวจีนยังนิยมมาไทยเป็นอันดับ 1 ซึ่งยืนยันว่า ททท.ไม่ได้ชะล่าใจ ยังคงกระตุ้นตลาดผ่านโครงการต่างๆ รวมถึงทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม ต่างๆมากขึ้น”
นายชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก ททท.กล่าวว่า ประเด็นภาพลักษณ์และความปลอดภัยของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวจีนให้ความสำคัญมากสุด จะถูกกระทบจากภาพการจับกุมขอทานจีนที่เกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขณะนี้กระแสข่าวถูกพูดถึงในสื่อออนไลน์ของจีนบ้าง ส่วนผลกระทบเกิดขึ้นในบางมณฑลของจีนเท่านั้น และเป็นเมืองในระดับ 2-3 ที่มีการตั้งคำถามเรื่องความเชื่อมั่นในหลายประเทศไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น โดยคุมการอนุมัติหนังสือ เดินทาง (พาสปอร์ต) ยากกว่าปกติ รวมถึงเที่ยวบินก็ไม่ได้เสรีเหมือนเดิม ทำให้ผลกระทบไม่ได้มากนัก “การมีมาตรการวีซ่าฟรีให้กับตลาดจีนตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.66 ถึง 29 ก.พ.67 ถือเป็นตัวช่วยสำคัญ แต่การปรับเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีน จะปรับขึ้นแบบเป็นขั้นบันได ไม่ได้ปรับขึ้นแบบสูงปรี๊ด เพราะหากไม่มีวีซ่าฟรีเข้ามาช่วย จะไม่มีทางได้ตัวเลขที่เข้ามาให้เห็นแบบตอนนี้แน่นอน”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่