สภาพัฒน์ ประเมินจีดีพีปีหน้าโต 3.2% ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต รอกฤษฎีกาเคาะร่าง พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

สภาพัฒน์ ประเมินจีดีพีปีหน้าโต 3.2% ไม่รวมดิจิทัลวอลเล็ต รอกฤษฎีกาเคาะร่าง พ.ร.บ.กู้ 5 แสนล้าน

Date Time: 20 พ.ย. 2566 19:28 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงจีดีพีไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 1.5% ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโต 1.9% คาดปี 2567 โต 2.7-3.7% ยอมรับยังไม่รวมปัจจัยรัฐบาลอัดฉีดเงิน 5 แสนล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจ อ้างรอความชัดเจนจากกฤษฎีกา

Latest


ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3/2566 พบว่า ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

โดยแบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน +3.1% การลงทุนภาครัฐ -2.6% การบริโภคภาคเอกชน +8.1% การบริโภคภาครัฐ -4.9% มูลค่าการส่งออก -2.0% มูลค่าการนำเข้า -10.7% ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี +2.7% 

อย่างไรก็ตาม จีดีพี 9 เดือนที่ผ่านมา ขยายตัว 1.9% ขณะเดียวกัน สศช.ประมาณการจีดีพีปี 2567 ไว้ที่ระดับ 2.7-3.7% หรือมีค่ากลางที่ 3.2% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกปีหน้าจะพลิกกลับมาเป็น +3.8% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวมากถึง 2.8% ส่วนการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.2%

จีดีพีปี 67 ยังไม่รวมสมมติฐานดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน

เลขาฯ สภาพัฒน์ ชี้แจงด้วยว่า การคาดการณ์จีดีพีปี 2567 ยังไม่ได้รวมสมมติฐานเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เพราะยังไม่แน่ใจว่า สุดท้ายแล้วจะใช้วงเงินเท่าไร และยังต้องรอคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 

“เรายังไม่ได้คำนวณรวมไว้ในแง่ดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องรอความชัดเจนเรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะจะใช้เรื่องเงินอย่างเดียวเข้ามาคงไม่ได้ ยังมีเรื่องรูปแบบการใช้จ่าย เรื่องร้านค้า ที่ต้องดูประกอบด้วย และต้องรอคำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ดังนั้นจึงยังไม่ได้ดำเนินการ”

พร้อมกับให้ความเห็นว่า การจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ทำได้หลายมาตรการ โดยตัวหลักคือ การลงทุนและการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกจะเป็นตัวหลักเพราะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออก ถ้าจะเร่งแก้ปัญหาก็ต้องแก้ตรงนี้ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐด้วย

ดังนั้นการที่ สศช.ประมาณการจีดีพีปีหน้า 3.2% ปีนี้ 2.5% ปีนี้ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ 

เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เร่งส่งออก-ลงทุน ดันเศรษฐกิจโต

ส่วนรัฐบาลคาดจีดีพีในระยะข้างหน้าจะโตปีละ 5% นั้น เลขาฯ สภาพัฒน์ ระบุว่า เป็นการตั้งเป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยการจะไปถึงเป้าหมาย 5% ต้องทำหลายส่วน โดยเฉพาะส่วนสำคัญคือเรื่องของการส่งออก และการลงทุน 

โดยต้องเร่งการลงทุนภาคเอกชน ให้มีการส่งเสริมให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นตัวสนับสนุนให้เกิดการเจริญเติบโตของประเทศในระยะยาว รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการปรับเรื่องคุณภาพและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ที่ต้องให้อยู่นานขึ้น และมีการใช้จ่ายมากขึ้น 

“โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ ไม่เช่นนั้นจะโตระดับ 3% กว่าๆ เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องทำต่อเนื่อง และต้องเร่ง เพื่อให้มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

ส่วนเรื่องงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ตามแผนที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้ ตอนนี้ผ่าน ครม.ไปแล้ว และเข้าสู่สภาฯ ในช่วงเดือน ม.ค. 2567 ตามแผนที่สำนักงบประมาณกำหนดไว้

พร้อมกันนี้ สำนักงานงบประมาณยังมีมาตรการให้ส่วนราชการต่างๆ เตรียมการจัดซื้อจัดจ้างไว้ก่อน พองบประมาณออกมาก็เบิกจ่ายได้ทันที ส่วนจะเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายอย่างไร ต้องอาศัยการกำกับจากหัวหน้าส่วนราชการที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย  

แนะสร้าง policy space รับความผันผวนอนาคต

นอกจากนี้ ดนุชา ยังกล่าวถึงข้อเสนอในรายงานจีดีพีฉบับไตรมาส 3/2566 ที่ระบุถึงการักษาพื้นที่การคลัง หรือ policy space ไว้ว่า เมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังโควิดมา เศรษฐกิจไทยประสบความผันผวนและความเสี่ยงจากภายนอกมาตลอด 

กระทั่งโควิดคลี่คลายไปแล้ว แม้จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ดีกว่านี้ แต่หลังโควิด ก็มีปัญหาเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก แต่เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังขยายตัวได้ จากภาคการบริโภคและการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีกว่านี้ ก็จำเป็นต้องปรับโครงสร้างในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาพใหญ่และเกี่ยวข้องกับการส่งออก

การทำนโยบายที่เหมาะสมต้องมี Policy Space มากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลายเรื่อง ทั้งเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ การจัดลำดับความสำคัญในแง่การใช้จ่ายภาครัฐ ดังนั้นสิ่งที่เสนอในแง่ทำให้ policy space ยังมีช่องว่างที่เพียงพอ เนื่องจากครั้งประสบปัญหาโควิด ก่อนโควิด ประเทศไทยมีอัตราส่วนหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 44% มี space 16% เพราะมีเพดานหนี้ 60%

แต่พอโควิดเข้ามากระทบระบบเศรษฐกิจไทย และมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาพยุงเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในช่วงนั้น จึงส่งผลให้ policy space ที่เคยมีค่อนข้างเยอะ ก็หายไปค่อนข้างเร็ว

“เพื่อการรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงถัดไป สศช.จึงเห็นว่าต้องมีการสร้าง policy space ให้เพียงพอ รวมถึงสร้าง physical consolidation เพื่อสร้างเสถียรภาพสร้างความแข็งแรงในภาคการคลัง เพื่อรองรับความผันผวน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางขณะนี้ ถ้าไม่ขยายวงก็ดีไป แต่ถ้าขยายวง เราก็จำเป็นต้องมี policy space ในการรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ” ดนุชา กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกต บริโภคภาคเอกชนโต 8.1%

อย่างไรก็ตาม จากการแถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2566 วันนี้ (20 พ.ย.) พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ตั้งข้อสังเกตว่า ในรายงานจีดีพี ไตรมาส 3/2566 มีการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนมากถึง 8.1% ขณะเดียวกันที่ Inventory (สินค้าคงคลัง) -7.1% 

ชวนให้น่าคิดว่า ทำไมตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส นั้น จึงสวนทางกับ Inventory ที่ลดลง จึงน่าคิดว่าเป็นเพราะเหตุผล 3 ด้านที่ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ ได้แก่

  1. เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเศรษฐกิจก่อนและหลังโควิด หรือไม่
  2. มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างที่ยังไม่ได้ถูกนับรวมเข้ามาในระบบการทำตัวเลขจีดีพีหรือไม่
  3. มีการบริโภคของนักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้นับรวมเข้ามาในสมมติฐานการทำประมาณการจีดีพีหรือไม่ 


เหล่านี้คือข้อสังเกตสำคัญว่า ทำไมการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวมากถึง 8.1% ในไตรมาส 3/2566 และความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นภาคการบริโภคเอกชนในระยะต่อไป ยังจำเป็นหรือไม่?

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์