นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการพักหนี้ให้กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เนื่องจากมูลค่าหนี้ของเอสเอ็มอีเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างสูง ซึ่งหนี้ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยต่อรายไม่ใช่แค่หลักแสนบาท ถือเป็นภาระที่หนัก โดยโจทย์ของการช่วยเหลือเรื่องหนี้เอสเอ็มอี ต้องเป็นเอสเอ็มอีตามรหัส 21 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคำอธิบายของกลุ่มนี้มีแค่เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้ว ซึ่งรัฐบาลให้ความช่วยเหลืออย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ยังมีเอสเอ็มอี อีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้สิน ไม่ถึงขั้นเป็นหนี้เสีย ทำให้อยู่นอกกรอบของลูกหนี้เอสเอ็มอีรหัส 21 ของ ธปท. ดังนั้นคณะทำงานแก้หนี้จึงกำลังช่วยกันดูว่าจะทำอย่างไรให้สามารถดูแลเอสเอ็มอีได้ทั้งระบบ แต่ก็ต้องดูให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลรับภาระไหว และยังต้องดูว่าการเข้าไปช่วยต้องไม่ทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำ และเกิด Moral Hazard หรือสภาวการณ์ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกิดแรงจูงใจในการสร้างภาวะเสี่ยงภัยให้กับตนเองเพิ่มขึ้นด้วย โดยขอยืนยันว่าการพักหนี้ครั้งนี้ จะไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากมีหลายกลไกที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างพิจารณา
สำหรับมาตรการแก้หนี้และพักหนี้ช่วยเอสเอ็มอีเป็นคนละส่วนกับที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เตรียมแถลงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ในปลายเดือน พ.ย.นี้
“ผมไปลงพื้นที่ตรวจงาน ได้ถามชาวบ้าน เกษตรกร ว่าพักหนี้มา 13 ครั้งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็บอกว่า ไม่ได้ดีขึ้น มันเป็นเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น แต่กลไกครั้งนี้ประกอบกับนโยบายอื่นๆที่รัฐบาลใส่เข้าไป มันจะสามารถให้ประชาชนพลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่