อั้นไม่อยู่! น้ำตาลขึ้นโลละ 2 บาท ครม.แจงช่วยชาวไร่อ้อย-แก้ปัญหาขาดแคลน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

อั้นไม่อยู่! น้ำตาลขึ้นโลละ 2 บาท ครม.แจงช่วยชาวไร่อ้อย-แก้ปัญหาขาดแคลน

Date Time: 15 พ.ย. 2566 08:25 น.

Summary

  • ครม.ยอมปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย 2 บาท ชี้ต้นทุนชาวไร่อ้อยที่สูงขึ้น แต่ไม่อนุมัติอีก 2 บาทเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม โดยให้มีผลทันที กกร.เด้งออกประกาศฉบับใหม่ คุมเฉพาะราคาหน้าโรงงานไม่เกิน กก.ละ 21–22 บาทปล่อยผีไม่คุมขายปลีกแค่ให้สอดคล้องต้นทุน พร้อมเลิกคุมส่งออก แนะห้างใน กทม.– ปริมณฑลขายไม่เกินโลละ 26–27 บาท ยืนยันของไม่ขาด “น้ำตาลไม่ขาดแคลน”

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ขึ้นราคาน้ำตาลทราย กิโลกรัม (กก.) ละ 2 บาท หลังจากได้รับฟังผลจากการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลที่ตนประชุมด้วย โดยมีการคุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ประชุมหารือกันถึง 2 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง โดยประเด็นแรกดูต้นทุนชาวไร่อ้อย เห็นสมควรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปรับราคาขึ้น 2 บาท มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ส่วนกรณีที่ขอขึ้นเพื่อนำเงินเข้ากองทุนดูแลสิ่งแวดล้อมอีก กก.ละ 2 บาทยังไม่ให้ปรับขึ้น โดยให้ไปหารือกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว ทั้งนี้ หลังพูดคุยกับส่วนที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าน้ำตาลจะไม่ขาด ตอนนี้เราต้องแก้ไขเรื่องเฉพาะหน้าเพื่อให้เกษตรกรไม่เดือดร้อน และต้องควบคุมราคาน้ำตาลด้วย ส่วนอนาคตหากจะมีการปรับอะไรต่างๆ ค่อยว่ากัน ตอนนี้แก้ปัญหาความฉุกเฉินที่มีเพื่อบรรเทาปัญหาประชาชนที่กำลังรับอยู่

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้า ภายใน กล่าวว่า ภายหลังจาก ครม.มีมติให้ปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย กก.ละ 2 บาท นายภูมิธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้เชิญประชุม กกร.เป็นการด่วน โดย กกร.มีมติให้ยกเลิกประกาศ กกร.ฉบับเดิมที่กำหนดราคาหน้าโรงงานน้ำตาลทรายขาวธรรมดา และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ที่ กก.ละ 19-20 บาท และราคาขายปลีกที่ กก.ละ 24-25 บาท และคุมการส่งออกที่กำหนดให้การส่งออกตั้งแต่ 1,000 กก.ขึ้นไป จะต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายในก่อน

ทั้งนี้ น้ำตาลทรายยังคงเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 และ กกร.จะออกประกาศฉบับใหม่ โดยกำหนดเพียงราคาหน้าโรงงานเท่านั้นที่ กก.ละ 21-22 บาท ส่วนราคาขายปลีกไม่ได้กำหนด แต่ผู้ค้าจะต้องขายในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน อย่างกรณีของห้างค้าปลีก ค้าส่งในกรุงเทพฯและปริมณฑล ควรขายไม่เกิน กก.ละ 26-27 บาท ร้านโชห่วย ร้านค้าทั่วไป ร้านค้าในตลาดสด ราคาขายปลีกขึ้นอยู่กับช่วงของการรับซื้อ ถ้ารับมาหลายต่อ ราคาก็จะสูงขึ้น หรือ หากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ราคาขายปลีกก็อาจสูงขึ้นตามการขนส่ง ส่วนการส่งออก ไม่ต้องขออนุญาตกรมการค้าภายในแล้ว เพียงแค่แจ้งปริมาณส่งออก และปริมาณน้ำตาลคงเหลือในสต๊อก เพื่อให้ติดตามดูแลปริมาณน้ำตาลในประเทศได้ โดยจะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีน้ำตาลเพียงพอในการใช้ ทั้งนี้ คาดว่าประกาศฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 15 พ.ย.นี้

ในที่ประชุม กกร. สอน.ยืนยันว่า น้ำตาลทรายในประเทศจะไม่ขาดแคลนแน่นอน และจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากนี้ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ทั้งจากกรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจสอบสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค กักตุน หรือปฏิเสธการขาย ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่ชาวไร่อ้อย ระบุว่า หลังจาก ครม.ให้ปรับขึ้น กก.ละ 2 บาทในครั้งนี้แล้ว อาจขอให้ปรับขึ้นอีก กก.ละ 2 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงที่เพิ่มขึ้นนั้น สอน.ต้องหารือกับกระทรวงพาณิชย์ก่อน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากที่มีกระแสข่าวถึงสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ตึงตัว จึงได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งหาแนวทางร่วมกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล โดยสัปดาห์นี้ได้เชิญโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 แห่ง ประชุมหารือถึงสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลในประเทศและขอความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลในการดูแลปริมาณน้ำตาลทรายเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับผลกระทบ โดย สอน.ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงทั่วประเทศ รายงานปริมาณสต๊อกคงเหลือส่งให้ สอน.เป็นประจำทุกวัน และอาจจะมีมาตรการในการบริหารจัดการปริมาณน้ำตาลทรายสำรองสำหรับฤดูการผลิตปี 2566/67 เป็นการเฉพาะเพิ่มเติมด้วย.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ