นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลกำลังศึกษาเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ สำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคู่ไปกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือนข้าราชการ มีผลต่อจิตวิทยาในการปรับขึ้นราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาอาหาร เพราะที่ผ่านมาอาหารตามสั่งขึ้นราคาครั้งละ 5-10 บาท/จาน แล้วไม่ค่อยจะลง รัฐบาลจะแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไร หากราคาอาหารปรับขึ้นตามเงินเดือนข้าราชการและค่าแรง
นายธนิต กล่าวต่อว่า สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะปรับขึ้นจากเดิมเฉลี่ยสูงถึง 17%นั้น ขณะนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเริ่มเข้าใจประเด็นดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ยอมรับว่าการปรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมากไป จะกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ทำให้มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงต้องเกิดขึ้นแน่ แต่จะเท่าใดต้องติดตามคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่จะส่งข้อมูลมา เพราะรัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะใช้กลไกการพิจารณาผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ
“เอกชนส่วนใหญ่เห็นว่าหากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3-5% จากฐานค่าแรงปัจจุบันภาคเอกชนไม่มีปัญหา แต่หากค่าแรงขึ้นไปอยู่ที่400บาท/วัน เทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ 353 บาท/วัน คิดเป็นการปรับขึ้นถึง 17% ยอมรับว่าสูงเกินไป จึงต้องการให้ยึดที่อัตราเงินเฟ้อย้อนหลัง 3 ปี (ปี 64-66) ซึ่งจะปรับขึ้นปีละ 3% หรืออาจปรับไปที่ไม่เกิน 5% เช่นที่เคยปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้เป็นตัวตั้ง นายจ้างส่วนใหญ่ยังรับได้อยู่ ส่วนจะประกาศขึ้นค่าแรงได้ทันให้เป็นของขวัญปีใหม่ วันที่ 1 ม.ค.67 หรือไม่ อยู่ที่นโยบายรัฐบาล”.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่