เปิดคัมภีร์รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดคัมภีร์รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

Date Time: 13 พ.ย. 2566 07:15 น.

Summary

  • “ทีมเศรษฐกิจ” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขอฉายภาพย้ำอีกครั้งถึงรายละเอียดและเงื่อนไขของโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และที่สำคัญ คือ เหตุผลความจำเป็นการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ในครั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้เข้าขั้น “วิกฤติ”แล้ว

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

หลังจากที่คนไทยรอคอยมาครบ 2 เดือน หลังจากการตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 ในที่สุด วันนี้เราก็ได้คำตอบเกี่ยวกับนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือโครงการ Digital wallet จากปากนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง “เศรษฐา ทวีสิน” โดยตรงด้วยคำแถลงพร้อมเอกสาร Power Point ที่อธิบายไว้ได้อย่างชัดเจน เพื่อตอบข้อสงสัยทั้งหมดของคนไทยที่นายกรัฐมนตรีได้รวบรวมมา

โดยผ่านกระบวนการพิจารณาใคร่ครวญอย่างดี ตามคำร้องขอและคำเตือนของบรรดาข้าราชการ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และหน่วยงานรัฐสำคัญๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กระทรวงการคลัง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แล้ว

คำตอบที่นายกรัฐมนตรีให้มา เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2566 ยังคงยืนยัน ว่า รัฐบาล “แจกให้แน่นอน” ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ ที่ได้หารือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว

1.เป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป 2.ไม่มีรายได้เกินเดือนละ 70,000 บาท 3.ไม่มีเงินฝากในบัญชีธนาคารรวมกันเกิน 500,000 บาท

และเพื่อให้การใช้เงินของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากที่สุด ได้ยอมตัดจำนวนคนที่มีรายได้หรือมีความร่ำรวยออกไป เหลือจำนวนคนที่ต้องแจกทั้งสิ้น 50 ล้านคน ภายใต้วงเงิน 500,000 ล้านบาท และโยกเงินที่เหลืออีกประมาณ 100,000 ล้านบาท เป็นงบในการลงทุนของรัฐบาลสำหรับผลักดัน 13 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

ทำให้ทั้งหมดนี้จะใช้วงเงินรวม 600,000 ล้านบาท ซึ่งได้พิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายแล้ว และได้ตกผลึกหนทางการหาเงิน โดยจะออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้วงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตีความว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่เงินอีก 100,000 ล้านบาท จะใช้เงินงบประมาณปี 2567 เพื่อจะนำลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆของประเทศได้ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมดิจิทัล การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาบุคลากรและการศึกษา เป็นต้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ให้เติบโตเต็มศักยภาพ

โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่า โครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อตอบโจทย์ของค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่เป็นเอกสารข้อมูล ซึ่งระบุว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จีดีพีประเทศไทย โตเฉลี่ยเพียง 1.8-1.9% เท่านั้น ซึ่งเป็นการโตที่ต่ำกว่าศักยภาพ

“ทีมเศรษฐกิจ” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขอฉายภาพย้ำอีกครั้งถึงรายละเอียดและเงื่อนไขของโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และที่สำคัญ คือ เหตุผลความจำเป็นการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ในครั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้เข้าขั้น “วิกฤติ”แล้ว

เปิดรายละเอียดผู้รับสิทธิโครงการ

เริ่มต้นจากการลงรายละเอียดโครงการ ซึ่งหลังจากประกาศเกณฑ์เบื้องต้นดังกล่าว จากการประมาณการเบื้องต้นขณะนี้ มีประชาชนคนไทยประมาณ 50 ล้านคน ที่จะได้สิทธิได้รับเงินดิจิทัล

โดยคนที่มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีต่ำกว่า 500,000 บาท เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้ารายได้เกิน 70,000 บาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือถ้ารายได้น้อยกว่า 70,000 บาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 500,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน

นับจากนี้ คณะทำงานจะไปกำหนดรายละเอียดและขั้นตอนการลงทะเบียนยืนยันตัวตน การตรวจสอบข้อมูลผู้ได้รับสิทธิ การกำหนดวันเวลาเงินในบัญชีธนาคารและรายอื่นๆ คาดว่าจะมีความชัดเจนก่อนที่จะเปิดให้มีการลงทะเบียนยืนยันการใช้สิทธิ ตามกรอบเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ คือ จะเปิดให้ลงทะเบียนและยืนยันการใช้สิทธิเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 1 มี.ค.-พ.ค.2567

ประชาชนจะเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2567 โดยมีสิทธิ์ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน นับจากวันใช้ครั้งแรก ซึ่งแต่ละคนจะเริ่มใช้สิทธิไม่เท่ากัน บางคนอาจใช้ครั้งเดียวหมดวงเงิน 10,000 บาท บางคนทยอยใช้ครั้งละ 100-1,000 บาท ดังนั้น จึงต้องกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการใช้เงินของประชาชนจะอยู่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.2567

ผู้ได้รับสิทธิ จะต้องใช้สิทธิครั้งแรกภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2567 หากยืนยันตัวตนแล้ว แต่ไม่ใช้สิทธิครั้งแรกภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ถือว่า “สละสิทธิ”

ยกตัวอย่างเช่น ประชาชนเริ่มใช้สิทธิครั้งแรกเดือน พ.ค.2567 และเป็นการทยอยใช้ และยังมีวงเงินเหลือ สิทธิการใช้จะไปจนถึง ต.ค.2567 ส่วนคนที่เริ่มใช้ครั้งแรกเดือน มิ.ย. 2567 ระยะเวลาการใช้เงินจะสิ้นสุดเดือน พ.ย.2567

สำหรับประชาชนที่พลาดสิทธิเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท รัฐบาลมีนโยบาย e-Refund ให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยให้ใบกำกับภาษี มาประกอบการยื่นภาษีบุคคล และรัฐจะคืนเงินภาษีให้ ดังนั้น คนไทยทุกคนสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ซื้ออะไรได้-ไม่ได้และซื้อที่ไหน

คำถามต่อมา คือ เมื่อประชาชนที่ได้รับสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถนำไปใช้จ่ายที่ไหนได้บ้าง คำตอบ คือ จะต้องนำไปใช้จ่ายในพื้นที่อำเภอ ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น ส่วนสามารถซื้ออะไรได้บ้างนั้น สามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการ ต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชนให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม มีสินค้าที่ไม่สามารถใช้เงินจากดิจิทัลวอลเล็ตไปซื้อได้เช่นกัน ประกอบด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบกัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม บัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี

รวมทั้งไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้

ขณะที่คำถามยอดฮิตในเรื่องการนำเงินไปชำระหนี้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ ที่สำคัญแลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆไม่ได้เช่นกัน

ต่อมาคือ ร้านค้าที่เราจะสามารถใช้จ่ายผ่านดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลได้นั้น ยืนยันไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี และไม่จำเป็นต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เราสามารถใช้เงินดิจิทัลได้ที่ร้านค้า รถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปพลิเคชันเป๋าตังใช้ได้หมด

แต่ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องใช้เงินและไปขึ้นเงินภายในเดือน เม.ย.2570

ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

ขณะที่อีกคำถามที่เป็นที่สนใจมากคือ ใช้อย่างไร ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทย คุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านแอป “เป๋าตัง” อยู่แล้ว โดยมีผู้ลงทะเบียนใช้งานแอปเป๋าตังกว่า 40 ล้านคน มีร้านค้าที่ลงทะเบียนแล้ว 1.8 ล้านร้านค้า และในปัจจุบันประชาชนคนไทยยังใช้บริการผ่านแอปเป๋าตังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีบริการของรัฐ หลากหลายบริการอยู่ในระบบแอปเป๋าตัง เช่น การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล

ดังนั้น รัฐบาลจะพัฒนาต่อยอดจากแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลา ประหยัดงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อนในการสร้างและดูแลรักษาระบบของกระทรวงการคลัง

โดยจะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เป็นระบบหลังบ้าน และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบเป๋าตัง โดยจะสร้างโปรแกรมขึ้นมา เพื่อทำให้รัฐป้องกันการทุจริตได้ และหากมีใครฝ่าฝืนแก้ไข ทุจริต ระบบจะสามารถตรวจสอบได้ทันที

นอกจากนั้น การมีระบบ Blockchain ของประเทศ จะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลและการทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ e-Government ของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม สร้างความโปร่งใส ลดการทุจริตได้อย่างเป็นรูปธรรม

เดิมพัน พ.ร.บ.เงินกู้ ต้องผ่านสภา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว แต่โครงการนี้ยังต้องใช้การทำงานอย่างต่อเนื่อง และต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนที่จะเริ่มเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลยืนยันความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากประเทศไทยในเวลานี้จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นมาตรการที่จำเป็นในการพลิกฟื้นสภาพเศรษฐกิจในขณะนี้

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเท่านั้น รัฐบาลยังมีหลายโครงการที่ต้องขับเคลื่อน ทั้งโครงการพัฒนาแหล่งทรัพยากรน้ำ การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ด้วยการเดินทางไปต่างประเทศของรัฐบาล และอื่นๆ อีกหลายโครงการ

และจากการประเมินภาพไปข้างหน้า การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่ครั้งเดียว เพื่อให้เกิดผลเร็วและแรง และเป็นวงกว้าง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยแบบโดมิโน และสร้างการขยายตัวของจีดีพีไม่ต่ำกว่า 5% ตลอด 4 ปี และทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดลงจากฐานเศรษฐกิจที่ขยายกว้างขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 62.14% การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท จะส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะ ไม่เกิน 65% ซึ่งยังไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ 70%

นอกจากนั้น การเสนอให้ออก พ.ร.บ.เงินกู้นั้น เพื่อไม่กระทบงบประมาณเดิม และต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุมและไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการออก พ.ร.บ.จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา

การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จะเป็นไปตามมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ซึ่งจะต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงาน ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมา ขึ้นเป็นเงินสด ดังนั้น ไม่ต้องห่วงกังวลการใช้เงินคืน เนื่องด้วยรัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี

ดังนั้น นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลมั่นใจว่า ในที่สุดแล้ว พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว จะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลอย่างแน่นอน จึงไม่มีการเตรียมแผนสำรองใดๆ ไว้รองรับ

แจงเศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้น “วิกฤติ” ยกกำลัง

วันนี้เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ใน “วิกฤติ” แล้ว และ “วิกฤติยกกำลัง” เพราะตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ย 1.8-1.9% รั้งท้ายประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำยังเรื้อรังยาวนาน และจากวิกฤติโควิด-19 คนจนที่จนอยู่แล้วแย่ลงไปอีก ขณะที่คนรวยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นห่างจากคนระดับฐานล่างไปเรื่อยๆ

ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประเทศยังอยู่ในระดับสูงมาก 91% ของจีดีพีนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งหนี้เหล่านี้ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ คือ ไม่ได้นำไปใช้ในการลงทุนค้าขาย ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องการเน้นย้ำถึงความจำเป็นต้องเร่งแก้ไข

และเมื่อประชาชนมีรายได้น้อย มีเงินไปซื้อสินค้าลดลง โรงงานผลิตสินค้า เดินเครื่องผลิตสินค้าไม่เต็มที่ เมื่อผลิตน้อยลง ก็ต้องการคนทำงานน้อยลง บางคน ตกงาน เอกชนไม่ขยายการลงทุน กลายเป็นวงจรถดถอยทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ยังเกิดปัจจัยรุมเร้า จากภาวะสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ยาวนานต่อเนื่อง ไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การสู้รบในบริเวณอิสราเอลและฉนวนกาซา ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในจุดเปราะบาง เข้าสู่ช่วงถดถอยและตกต่ำ รวมถึงเศรษฐกิจประเทศไทยด้วย

“เศรษฐกิจของประเทศในตอนนี้ เม็ดเงินในระบบเหือดหาย ซ้ำเติมด้วยเศรษฐกิจใต้ดิน เติบโตอย่างน่ากลัว จนทำให้เงินยิ่งหายไปจากระบบจำนวนมากและตามเก็บภาษีไม่ได้ หากไม่เติมเงินใหม่เข้าไป จะไม่มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ ประชาชนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อถดถอย การบริโภคในประเทศจะตกต่ำลงไปอีก”

การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจึงเป็นหนทางที่จำเป็นต้องดำเนินการ และหากพิจารณาจากมาตรการของประเทศอื่นๆในเอเชีย จะพบว่า ญี่ปุ่น เคยออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มูลค่า 13.2 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท ขณะที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ออกคูปองกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นจำนวน 3,000 เหรียญฮ่องกง ต้องใช้ภายใน 6 เดือน ถ้าใช้หมดใน 6 เดือน จะได้รับคูปองรอบที่ 2 อีก 2,000 เหรียญฮ่องกง

ฉะนั้น มาตรการการอัดฉีดเม็ดเงิน เติมเงินใหม่เข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นนโยบายที่แปลกประหลาด แต่จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในอำเภอ ในชุมชน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจบรรเทาภาระค่าครองชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และพัฒนาเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปเศรษฐกิจ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ