ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย “บีโอไอ” เห่กล่อมทัพลงทุนซาอุดีอาระเบีย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย “บีโอไอ” เห่กล่อมทัพลงทุนซาอุดีอาระเบีย

Date Time: 7 พ.ย. 2566 05:52 น.

Summary

  • “บีโอไอ” หว่านล้อม 2 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ของประเทศซาอุดีอาระเบีย “Ceer”–“Lucid” เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดอาเซียน ขณะที่ซาอุดีอาระเบียเชิญชวนฝ่ายไทยให้เข้าไปลงทุนผลิตชิ้นส่วน-อุปกรณ์รถยนต์

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า ได้หารือกับประเทศซาอุดีอาระเบีย ถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุน ในหลายด้าน รวมทั้งการขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียมีนโยบาย ส่งเสริมการผลิตอีวีในประเทศ โดยตั้งเป้าจะมีแบรนด์รถอีวีที่ผลิตรถอีวีภายในประเทศให้ได้โดยเร็ว

“ที่ผ่านมากองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ของซาอุดีอาระเบีย (PIF) ได้ประกาศการลงทุนใน 2 บริษัทรถอีวี ที่สำคัญ ได้แก่ “Ceer” และ “Lucid” โดย Ceer ขณะนี้ PIF ได้เข้าร่วมทุนกับบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ไต้หวัน เพื่อพัฒนาและผลิตแบรนด์อีวีประจำประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับบริษัท BMW ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า และอื่นๆมาปรับใช้กับอีวีแบรนด์นี้ โดยตั้งเป้าว่าในปี 2025 จะผลิตและส่งมอบรถอีวีให้กับลูกค้าได้”

ขณะที่ Lucid ล่าสุด PIF ของซาอุดีอาระเบียได้เข้าซื้อหุ้นกว่า 60% ในบริษัท Lucid Motor ของสหรัฐฯ เพื่อก่อตั้งโรงงานผลิตรถอีวี โดยซาอุดีอาระเบีย เพิ่งประกาศเปิดโรงงานแห่งแรกนอกประเทศ ในเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ King Abdullah (King Abdullah Econo mic City) เมื่อปลายเดือน ก.ย. ซึ่งการหารือกันระหว่าง 2 ประเทศ ในเรื่องความร่วมมือเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์และอีวี

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เชิญชวนให้ซาอุดีอาระเบียขยายการลงทุนรถอีวีของแบรนด์ที่มีการลงทุนมายังประเทศไทย โดยเสนอให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังอาเซียนเหมือนกับที่มีการลงทุนของหลายค่ายรถอีวีในไทยก่อนหน้านี้ ส่วนซาอุดีอาระเบียก็เชิญชวน ให้ผู้ประกอบการไทย ไปเปิดตลาดชิ้นส่วนรถยนต์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ในตลาดของซาอุดีอาระเบีย

สำหรับมาตรการการส่งเสริมอีวีของประเทศ ไทย ช่วงที่ผ่านมาได้ผลการตอบรับที่ดี ทั้งจากผู้บริโภคและผู้ผลิตจากทั่วโลกโดยปี 2565-2566 ที่ประเทศไทยใช้มาตรการสนับสนุน EV 3.0 มีผู้ผลิตอีวีเข้าร่วมกับมาตรการดังกล่าว 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2567 จะมีผู้ที่เริ่มผลิตอีวี ในประเทศไทย 6 ราย ตามเงื่อนไขที่จะต้องมีการผลิตอีวี ในประเทศ เพื่อทดแทนการนำเข้า

“9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.) มียอดจดทะเบียนอีวีใหม่ในประเทศไทย 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6 เท่า นับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนอีวี ตั้งแต่ปี 2560 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนรวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า”

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยหลังจากที่เดินทางกลับจากต่างประเทศว่า ได้พบกับผู้นำประเทศและบริษัทเอกชนหลายราย ซึ่งได้มีการติดตามการทำงานทุกๆ 2 สัปดาห์ เกี่ยวกับความร่วมมือที่ได้มีการหารือกัน โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ได้สนทนาทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับตัวแทนรัฐบาล และคณะทำงานของซาอุดี อาระเบีย หลังจากที่ได้เดินทางไปเยือนซาอุดี อาระเบียอย่างเป็นทางการ รวมทั้งได้หารือกับบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจในหลายๆ บริษัททั้งด้านอาหาร ปศุสัตว์ พลังงาน เป็นต้น.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ