“สายด่วน” แจ้งหลอกลงทุน ให้เบาะแสได้ที่ 1207 กด 22

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“สายด่วน” แจ้งหลอกลงทุน ให้เบาะแสได้ที่ 1207 กด 22

Date Time: 7 พ.ย. 2566 05:07 น.

Summary

  • ก.ล.ต.เปิด “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร.1207 กด 22 เพื่อรับแจ้งเบาะแสมิจฉาชีพหลอกลงทุนโดยตรง พร้อมผนึก Meta เจ้าของ Facebook–IG และ LINE ปิดเพจปลอมใน 48 ชั่วโมง พร้อมร่วมมือภาครัฐ จัดการบัญชีม้า ช่วยเหลือประชาชน ป้องกันความเสียหายจากการถูกหลอกลวงลงทุน

Latest

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ย้ำชัด ไทยไม่ลด "ดอกเบี้ย" ตามเฟด ชี้ "บาทแข็งค่า" ไม่ทุบทิศทางส่งออกไทย

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เปิดบริการ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” เพื่อเป็นช่องทางรับแจ้งเบาะแสการหลอกลงทุนโดยตรง โดยโทร.1207 แล้วกด 22 หรือแจ้งผ่านระบบรับแจ้งบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. (www.sec.or.th/scamalert) หรืออีเมล scamalert @sec.or.th โดยสำนักงาน ก.ล.ต.จะเร่งตรวจสอบเบาะแสที่ได้รับ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดกั้นเนื้อหาหรือช่องทางการหลอกลงทุน

“ปัจจุบันการหลอกลงทุนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มิจฉาชีพมักใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดีย หลอกลวงประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งโฆษณาชวนเชื่อให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีอยู่จริง ล่อลวงด้วยการเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินจริง หรือการแอบอ้างใช้ภาพ และชื่อของผู้บริหารของหน่วยงานในตลาดทุนมาชักชวนให้ลงทุน เป็นต้น ซึ่งการเปิดสายด่วนแจ้งหลอกลงทุนนั้น มีจุดประสงค์สร้างความร่วมมือในการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อต่อต้านมิจฉาชีพ”

นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับบริษัท Meta (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการ Facebook และ Instagram รวมทั้งบริษัท LINE (ประเทศไทย) ปิดกั้นช่องทางของมิจฉาชีพในแพลตฟอร์มดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งเบื้องต้นกำหนดอย่างช้าภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มขึ้นกับประชาชน รวมถึงยังประสานศูนย์ Anti Online Scam Operation Center (AOC) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อช่วยปิดเว็บไซต์หลอกลงทุนและอายัดบัญชี โดยมีเป้าหมายปิดบัญชีม้า หรือบัญชีเงินฝากที่คนร้ายใช้รับเงินให้ได้โดยเร็ว เพื่อระงับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

สำหรับสถิติรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ต.ค.66 พบว่า มีการขึ้นเตือนบนเว็บไซต์ ก.ล.ต. ในหัวข้อ Investor Alert เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบรายชื่อแล้วกว่า 265 ราย และประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย กระทรวงดีอีเอส เพื่อออกข่าวเตือนประชาชนแล้ว 90 กรณี ส่วนการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงานเกี่ยวกับการหลอกลงทุนที่แอบอ้างชื่อและโลโก้ หรือภาพผู้บริหารของ ก.ล.ต. มี 10 กรณี รวมถึงส่งเรื่องให้สำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 กรณีอ้างผลตอบแทนสูง 163 ราย และส่งเรื่องให้ดีอีเอสดำเนินการแล้ว 85 กรณี

ด้านนายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า การเปิดช่องทางสายด่วนแจ้งหลอกลงทุนของ ก.ล.ต.นั้น สอดรับกับการเปิดศูนย์ AOC 1441 เพื่อให้มีการบูรณาการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ ให้บริการแบบ one stop service แก่ประชาชน รวมทั้งให้คำปรึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับภัยออนไลน์ เพื่อระงับและอายัดบัญชีของคนร้ายให้ทันท่วงที รวมทั้งผู้เสียหายยังติดตามสถานะการแก้ไขปัญหาได้ในทุกขั้นตอน

ส่วนนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สายด่วนแจ้งหลอกลงทุนจะเป็นช่องทางให้ประชาชน ผู้ลงทุน และองค์กรต่างๆ ร่วมกันแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนในตลาดทุน เพื่อตัดวงจรหลอกลวงของมิจฉาชีพได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบเพจปลอมที่แอบอ้างตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งได้ report แล้วกว่า 320 ราย หากประชาชนพบเจอเว็บไซต์ชวนลงทุน หรือยังไม่มั่นใจให้เช็กให้รอบคอบก่อนลงทุน.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ