คลังยังตีมึนกังวลรายได้หาย ลดภาษีหั่นเบนซิน 91 ลิตรละ 2.50 บาท

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลังยังตีมึนกังวลรายได้หาย ลดภาษีหั่นเบนซิน 91 ลิตรละ 2.50 บาท

Date Time: 25 ต.ค. 2566 06:50 น.

Summary

  • ครม.รับหลักการลดราคาเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร โดยใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิต “พีระพันธ์” ภูมิใจเสนอ รีบเอาเข้า ครม.อนุมัติเป็นทางการสัปดาห์หน้า เพื่อให้มีผลทันที่ 31 ต.ค. 2566 ยาว 3 เดือน ด้าน “จุลพันธุ์” รมช.คลังตีมึน ลดภาษีเท่าไรยังไม่ชัด ต้องศึกษาก่อนเพราะรายได้จะหายไปด้วย

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2666 เห็นชอบในหลักการปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน เฉพาะน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร โดยใช้วิธีปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินชนิดนี้ลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน

“ต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและ ครม.ที่เห็นชอบกับวิธีการนี้ ในสัปดาห์หน้ากระทรวงพลังงานจะประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุม โดยจะให้มีผลทันทีหลังจากการประชุม ครม.วันที่ 31 ต.ค.2566 โดยคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทเศษ เป็นหลักการเดียวกับการลดราคาน้ำมันดีเซลที่ใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิตลงเช่นกัน”

นายพีระพันธ์กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำภายใต้โครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน สำหรับการปรับลดราคาน้ำมันเบนซินส่วนอื่นๆ เช่น เบนซิน 95 หรือน้ำมันเกรดอื่นๆนั้น จะพิจารณาต่อไป โดยจะต้องไปดูในโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างน้ำมันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันภาษีสรรพสามิตแก๊สโซฮอล์ 91 มีการจัดเก็บอยู่ที่ 5.85 บาท/ลิตร และเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.80 บาทต่อลิตร หากรัฐบาลจะดำเนินการเช่นเดียวกันกับน้ำมันดีเซล จึงเท่ากับว่าจะต้องตรึงราคาไว้ในระดับที่กำหนดในระยะเวลา 3 เดือน กรณีที่ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินตลาดโลก ปรับสูงขึ้นเกินกว่าที่ตรึงไว้ จะต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯมาดูแลเพิ่มเติมด้วย แต่หากไม่ใช้กลไกกองทุนฯมาอุดหนุน ก็จะทำให้ราคาเกินเพดาน

ล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 15 ต.ค. 2566 ฐานะสุทธิติดลบ 70,230 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 25,121 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 45,109 ล้านบาท โดยหากรัฐบาลดึงกลไกการเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯ มาบริหารราคาแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มเติม ก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากขณะนี้รายได้หลักของกองทุนน้ำมันฯอยู่ที่การจัดเก็บน้ำมันกลุ่มเบนซินเท่านั้น เนื่องจากต้องตรึงดีเซลไม่เกิน 29.94 บาทต่อลิตร จนถึงสิ้นปีตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งขณะนี้กองทุนน้ำมัน ต้องอุดหนุนราคาน้ำมัน ดีเซลเฉลี่ยที่ลิตรละ 5.50-6 บาท

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลดภาษีน้ำมันเบนซิน 91 ในอัตราเท่าใด โดยกรมสรรพสามิตต้องไปศึกษารายละเอียดทั้งหมด รวมถึงผลกระทบต่อรายได้ที่หายไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แต่ละปีจะจัดเก็บภาษีน้ำมันเบนซินได้ราว 60,000-70,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของการจัดเก็บภาษีน้ำมันในแต่ละปีที่จัดเก็บได้ราว 200,000 ล้านบาท

โดยปัจจุบัน โครงสร้างราคาน้ำมันเป็นดังนี้ คือแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5.85 บาท ภาษีท้องถิ่น 0.585 บาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.80 บาท กองทุนอนุรักษ์พลังงาน 0.05 บาท รวมราคาขายส่งอยู่ที่ 32.2894 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.2603 บาท บวกค่าการตลาด 3.2059 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ปั๊มน้ำมัน 0.2244 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันแก๊ส โซฮอล์ 91 ณ วันที่ 24 ต.ค.66 อยู่ที่ลิตรละ 37.98 บาท

ส่วนเบนซิน ภาษีลิตรละ 6.50 บาท ภาษีท้องถิ่น 0.65 บาท กองทุนน้ำมัน 9.38 บาท กองทุนอนุรักษ์ 0.05 บาท รวมราคาขายส่ง 40.297 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 2.8208 บาท ค่าตลาด 2.7310 บาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ปั๊มน้ำมัน 0.1912 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกเบนซิน ณ วันที่ 24 ต.ค. 66 อยู่ที่ลิตรละ 46.04 บาท.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ