“เศรษฐา” นัดประชุม “ทูตพาณิชย์” เปิด “เวิร์กช็อป” เร่งกระตุ้นส่งออก-ลงทุน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“เศรษฐา” นัดประชุม “ทูตพาณิชย์” เปิด “เวิร์กช็อป” เร่งกระตุ้นส่งออก-ลงทุน

Date Time: 25 ต.ค. 2566 05:05 น.

Summary

  • “เศรษฐา” สั่ง “ภูมิธรรม” เรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก ทำเวิร์กช็อปด่วน เจาะการค้าการลงทุนทั่วโลก ด้าน “พาณิชย์” เผยส่งออก ก.ย. ทะลุ 2.5 หมื่นล้านเหรียญฯ เพิ่ม 2.1% บวก 2 เดือนติดต่อกัน หลังทั่วโลกแห่นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรับมือภัยแล้ง และความมั่นคงด้านอาหาร คาดทั้งปีติดลบน้อยลง

Latest

"สถิตย์" ย้ำกฎหมายแกร่ง ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไร้อำนาจแทรกแซง นโยบายการเงิน - ปลดผู้ว่าฯ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้สั่งการระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าหลังจากการเดินทางไปเยือนต่างประเทศและได้หารือกับผู้นำ และภาคธุรกิจเอกชนหลายประเทศ ได้มองเห็นโอกาสในการเปิดตลาดการค้าของประเทศไทยอีกมาก โดยใช้กลไกของทูตพาณิชย์ที่อยู่ทั่วโลกมาใช้ จึงสั่งการด่วนให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ เรียกประชุมทูตพาณิชย์จากทั่วโลกที่ประเทศไทย โดยให้มีการจัดทำเวิร์กช็อปด่วน เพื่อวางแผนกระตุ้นตลาดการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ เพราะรัฐบาลต้องการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มการค้า การลงทุน การส่งออกให้เร็วที่สุด ส่วนบางประเทศที่มีทูตพาณิชย์น้อย คนไม่พอ นายกฯ ให้เร่งเพิ่มจำนวนคนและเดินหน้าทำเต็มที่เช่นกัน

สำหรับข้อสั่งการของนายกฯ ครั้งนี้เป็นผลมาจากการเดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ 3 และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค.2566 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเดินทางเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEAN-GCC Summit ครั้งที่ 1 และได้พบกับทูตพาณิชย์ไทยของทั้ง 2 ประเทศ และต้องการให้เพิ่มช่องทางการค้ามากขึ้น

“นายกฯได้เดินทางไปทั้ง 2 ประเทศและได้พบกับทูตพาณิชย์ และพบว่ายังมีช่องทางที่ประเทศไทยจะทำตลาดเชิงรุกในแต่ละประเทศที่นายกฯเดินทางไปเยือน โดยต้องการให้ทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศได้ไปเชื้อเชิญเพิ่มการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน โดยการจะเพิ่มเรื่องนี้ ได้นั้นทูตพาณิชย์มีความจำเป็นอย่างมาก”

วันเดียวกัน นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือน ก.ย.66 ไทยมีมูลค่าส่งออก 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.1% เทียบเดือน ก.ย.65 เป็นการบวกต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 888,666 ล้านบาท ลดลง 0.1% ส่วนการนำเข้า 23,383.5 ล้านเหรียญฯ ลดลง 8.3% คิดเป็นเงินบาท 825,310 ล้านบาท ลดลง 10.2% ได้ดุลการค้า 2,092.7 ล้านเหรียญฯ หรือ 63,355 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 66 การส่งออก 213,069.4 ล้านเหรียญฯ ลด 3.8% เทียบช่วงเดียวกันปี 65 คิดเป็นเงินบาท 7.268 ล้านล้านบาท ลดลง 3.4% ส่วนนำเข้า 218,902.1 ล้านเหรียญฯ ลด 6% คิดเป็นเงินบาท 7.558 ล้านล้านบาท ลดลง 5.9% ขาดดุลการค้า 5,832.7 ล้านเหรียญฯ หรือ 289,400 ล้านบาท

“ถ้าดูการส่งออกทั่วโลก และคู่แข่งไทยเดือน ก.ย.66 พบว่า มีไทยและเวียดนามที่ขยายตัวเป็นบวก ส่วนประเทศอื่นยังติดลบ ทั้งอินเดียลบ 2.6% เกาหลีใต้ลบ 4.4% จีนลบ 6.2% สิงคโปร์ ลบ 9.5% มาเลเซียลบ 16.2% อินโดนีเซียลบ 16.2% แต่ติดลบอัตราที่ลดลง ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มส่งออกของโลกเริ่มกลับมาดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มดีขึ้น รวมถึงความต้องการอาหารเพื่อความมั่นคงที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง”

ส่วนแนวโน้มส่งออกในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. น่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะทำให้ทั้งปี 66 ติดลบน้อยกว่าที่หลายหน่วยงานคาด โดยมีปัจจัยบวกจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เร่งแก้ไขปัญหาผลักดันการส่งออก การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นจากภาวะภัยแล้ง ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก การเร่งนำเข้าเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ โดยยังมีปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ราคาน้ำมัน และปัญหาอิสราเอล ถ้าอยู่ในวงจำกัด ไม่ลุกลามบานปลาย และไม่มีผลกระทบต่อเส้นทางการขนส่งสินค้า ก็ไม่น่ากระทบต่อการส่งออกไทยมากนัก โดยกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับเอกชนเพื่อเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าแล้ว หากปัญหาอิสราเอลขยายวงกว้าง ยืดเยื้อ

“แม้ปีนี้ส่งออกจะไม่พลิกเป็นบวก แต่จะติดลบน้อยที่สุด โดยหากติดลบ 1% ช่วง 3 เดือนที่เหลือจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 23,827 ล้านเหรียญฯ ถ้าขยายตัว 0% ต้องได้เฉลี่ย 24,785 ล้านเหรียญฯ แต่ถ้าบวก 1% ต้องได้เฉลี่ย 25,743 ล้านเหรียญฯ ซึ่ง 24,000 ล้านเหรียญฯ พอเป็นไปได้ แต่ 25,000 ล้านเหรียญฯ ยากมาก”

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกในเดือน ก.ย.66 ดีกว่าที่คาดไว้และประเมินว่า ทั้งปีน่าจะติดลบ 1% ส่วนปัญหาอิสราเอลนั้น ขณะนี้ผู้ส่งออกเตรียมการรับมือไว้แล้ว และเร่งส่งมอบสินค้าให้ทันช่วงเทศกาลสิ้นปี แต่เชื่อว่าเส้นทางขนส่งสินค้าจะไม่ถูกปิดกั้น ตู้คอนเทนเนอร์ยังมีการหมุนเวียนตามปกติ แต่ค่าระวางเรืออาจปรับขึ้นบ้างประมาณ 10%.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ