ค่าไฟฟ้าแพง ราคาแผงถูก ดันตลาดโซลาร์โตต่อ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ค่าไฟฟ้าแพง ราคาแผงถูก ดันตลาดโซลาร์โตต่อ

Date Time: 23 ต.ค. 2566 05:33 น.

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายนิเวช บุญวิชัย อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยภาพรวมในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10-15% จากปีก่อน เนื่องจากราคาค่าไฟฟ้าของไทย ที่ยังคงมีอัตราสูงเฉลี่ยหน่วยละ 3.99 บาท ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและรับซื้อ และที่สำคัญแผงโซลาร์ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จนถึงต้นปี 2567 จึงทำให้การติดตั้งมีการเติบโตในทุกภาคส่วน ทั้งธุรกิจ บ้านที่อยู่อาศัย และการรับซื้อจากภาครัฐ

“ราคาแผงโซลาร์ได้ทยอยลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้และคาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำจนถึงต้นปี 2567 เนื่องจากกำลังการผลิตแผงฯ ค่อนข้างล้นตลาด โดยเฉพาะจีนผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีกำลังผลิตเหลือเพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับจีนมีเมกะโปรเจกต์ต่างๆลดลง โดยแผงโซลาร์ขณะนี้ มีราคาเฉลี่ยที่ 15-16 เซนต์/วัตต์ จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 22-25 เซนต์/วัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ (MW) มีต้นทุนติดตั้งรวมที่ 22 ล้านบาท จาก 25 ล้านบาท ทำให้เป็นโอกาสของผู้บริโภค”

ซึ่งต้นทุนที่ลดลง ส่งผลให้ผู้รับเหมาติดตั้งมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยมีการจัดโปรโมชันให้ลูกค้า เช่น ลดค่าติดตั้ง มีของแถม และลดค่าไฟฟ้าให้กรณีเป็นการติดตั้งแบบ Private PPA คือการที่ผู้รับเหมาลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์และบริหารจัดการให้ทั้งหมดแล้ว หักลบกับค่าไฟฟ้าที่เสนอให้เจ้าของหลังคาที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับเหมาติดตั้งที่เป็นรายใหญ่ 30 บริษัทมุ่งรับงานที่มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งสูง และรายกลางและเล็กที่มีอยู่ 200 บริษัท เน้นติดตั้งโซลาร์ฯบ้านที่อยู่อาศัยและหลังคาโรงงานขนาดไม่ใหญ่มากนัก

ขณะที่นโยบายรัฐบาลที่หนุนรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียน (RE) และโซลาร์ภาคประชาชน ที่รับซื้อไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้จากหลังคาบ้านที่อยู่อาศัยอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยนั้น นับว่ามีส่วนช่วยให้โซลาร์ฯเติบโตต่อเนื่อง และโซลาร์ฯก็มีส่วนสำคัญในการตอบโจทย์การซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่จะเอื้อให้กับผู้ส่งออกไทยที่จะส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเริ่มคิกออฟมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 กับสินค้านำร่อง 6 กลุ่มหลัก ซึ่งระยะต่อไปอาจจะกำหนดกับสินค้าเพิ่มเติม และประเทศอื่นๆอาจใช้มาตรการลักษณะเดียวกัน ทำให้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งรวมถึงโซลาร์ฯ ยังมีทิศทางเติบโต.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ