จากเราเที่ยวด้วยกัน ถึง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ลุ้นรัฐ เพิ่มเงื่อนไข เงินดิจิทัลใช้ท่องเที่ยวได้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จากเราเที่ยวด้วยกัน ถึง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ลุ้นรัฐ เพิ่มเงื่อนไข เงินดิจิทัลใช้ท่องเที่ยวได้

Date Time: 16 ต.ค. 2566 16:42 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • จากเราเที่ยวด้วยกัน ถึง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เห็นด้วยหรือไม่? หากรัฐบาล เปิดเงื่อนไข ใช้เงินดิจิทัล เพื่อการท่องเที่ยวได้ 

Latest


ระหว่าง รอรายละเอียด “การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของรัฐบาล ปรากฏความเห็นหลายทาง และหลายไอเดีย ด้วยความมุ่งหวัง อยากให้เม็ดเงินงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ที่จะฟีดเข้าระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผ่านการโอนเข้ามือประชาชน 1 ก.พ. 2567 นั้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ 

โดยคนของรัฐบาลต่างประสานเสียงชัดเจน ว่าจะเดินหน้า “นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต” อย่างแน่นอน อีกทั้งวันนี้ มีการแต่งตั้ง คณะบุคคลต่าง ๆ ขึ้นเป็น คณะอนุกรรมการ 2 คณะด้วยกัน ทั้งที่ทำงาน ขับเคลื่อน และประมวลผล-ตรวจสอบโครงการ อย่างเป็นทางการแล้ว


ล่าสุด “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังเผยว่า ขณะนี้รัฐบาล กำลังพัฒนาซุปเปอร์แอป เพื่อใช้โครงสร้างหลัก สำหรับโครงการแจกเงิน 10,000 บาท คาดทันใช้ต้นปีหน้า 

อย่างไรก็ดี พบ 1 ในข้อเสนอที่น่าสนใจ สำหรับเงื่อนไขการใช้เงินดิจิทัล ที่ชวนตกผลึก และน่าผลักดัน คือ แนวคิดการปรับเงื่อนไขให้สามารถนำเงินดิจิทัลบางส่วนไปใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวได้ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตอบรับ และระบุ อาจมีการเสนอแนวคิดดังกล่าว

โดยตั้งธง เปิดช่อง 30% ของเงินดิจิทัล หรือ 3,000 บาท ให้ประชาชนสามารถนำใช้จ่ายในการเดินทาง และท่องเที่ยวได้ ส่วนอีก 7,000 บาท สามารถใช้เงินไปกับการจ่ายซื้อสินค้าอื่นๆ ตามเงื่อนไขของโครงการเดิม หรืออีกทางให้สามารถใช้เงินดิจิทัล ทั้ง 10,000 บาท ไปกับการท่องเที่ยว ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา และหาข้อสรุปร่วมกับรัฐบาล 

ซึ่งแนวคิดดังกล่าว สอดคล้องกับข้อเสนอของภาคเอกชน เพราะเชื่อว่า หากรัฐบาลเปิดช่องให้สามารถนำ "เงินดิจิทัล" มาใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวได้ จะช่วยกระตุ้นภาคท่องเที่ยวไทยได้อย่างมาก และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างดีไม่แพ้กัน 

ThairathMoney เจาะข้อมูล จากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวของคนไทย ตั้งแต่ ม.ค.- ส.ค. 2566 ครอบคลุม การเดินทางเพื่อท่องเที่ยว, เยี่ยมเพื่อน/ญาติ ทั้งที่พักค้างคืน และไม่ค้างคืน รวมสะสม รวม 8 เดือนแรกของปี พบ ไทยเที่ยวไทยแล้ว ทั้งสิ้น 162,875,748 คน เพิ่มขึ้น 27.46% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  

ขณะเมื่อแปลงเป็นเม็ดเงิน ได้สร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 5.12 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 27.18% จากปีก่อน  โดยมีอัตราการเข้าพักในโรงแรม/รีสอร์ต เพิ่มขึ้น 26.18% จากปีก่อน ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกแง่ จากปีก่อน พบ 1 ในข้อ ควรพิจารณา ก็คือ งบประมาณ การใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวคนไทย มีน้อยลง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวไทยมีกำลังซื้อเฉลี่ย 2,800-3,200 บาทต่อคนต่อทริป เท่านั้น แต่เปลี่ยนเป็นการเดินทางท่องเที่ยวบ่อยครั้งขึ้น ท่ามกลางความต้องการของ ททท. ที่วางเป้า จะเพิ่มกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวไทยให้ถึง 4,000 บาทต่อคนต่อทริปในช่วงปี 2567 

ย้อนไปก่อนหน้า รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการผลักดัน "โครงการเราเที่ยวด้วยกัน" ออกมาต่อเนื่องหลายเฟส เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้จ่าย ผ่านการท่องเที่ยวในประเทศ แบ่งสิทธิ์ 2 ส่วน

ยกตัวอย่าง เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ให้สิทธิคนไทย 5.6 แสนสิทธิ ระยะเวลา 7 มี.ค.-30 เม.ย. 2566 กล่าวคือ 1. รัฐสนับสนุนค่าโรงแรม 40% คนละไม่เกิน 5 คืน (สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้อง/คืน) และสิทธิที่ 2. รัฐสนับสนุนค่าอาหาร/ค่าเข้าท่องเที่ยว 40% (คูปองอาหาร /ท่องเที่ยว สูงสุด 600 บาทต่อวัน) 

ซึ่งถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  รวมถึง ก่อเกิดการสร้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในองค์รวม ผ่านเม็ดเงินที่เกิดขึ้น กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท 

แม้ตลอดระยะเวลา โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ถูกดำเนินตั้งแต่ปี 2563 ถึง ปี 2566 จะยังมีช่องโหว่ และความยุ่งยากในการใช้สิทธิอยู่บ้าง แต่นับเป็นโครงการที่ถูกยกว่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างดี ในช่วงที่เราสูญเสียรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไป ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศแทน 

เพราะด้วยจำนวนสิทธิและเงินสนับสนุนของ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ได้ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับนักท่องเที่ยวคนไทย และทำให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายขณะเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มีส่วนกระตุ้นความ ต้องการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนในประเทศอย่างมาก คล้ายสร้างแรงจูงใจให้มีการท่องเที่ยวที่มากขึ้นได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวอยู่แล้ว

หากขณะนี้ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังไม่เต็มเป้าหมาย อย่างที่ประเทศไทยตั้งไว้ จะด้วยผลกระทบของเศรษฐกิจโลก และ ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ที่อาจถูกกระทบจากเหตุไม่ดี การหันมาพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศ ก็อาจมีความจำเป็นมากขึ้น  เพราะเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงแรม สายการบิน รวมถึงร้านค้ารายย่อยตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยที่ไม่ควรมองข้าม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์