นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต (Digital Wallet) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จะเริ่มเปิดลงทะเบียนร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการได้ ส่วนประชาชนคาดว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้หลังจากนั้น โดยยืนยันว่าจะใช้ได้ทันเดือน ก.พ.67 อย่างแน่นอน โดยจากโครงการรัฐที่ผ่านมา มีประชาชนยืนยันตัวตนมาแล้วอยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐประมาณ 40 ล้านคน แต่ยังมีผู้ที่ยังไม่อยู่ในฐานข้อมูลอีกประมาณ 10 ล้านคน
“รัฐบาลยืนยันจะเติมเงินดิจิทัลให้ทุกคนที่มีสิทธิครั้งเดียว 10,000 บาท โดยไม่มีการแบ่งจ่ายเงินเป็นงวดๆแน่นอน แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อเสนอให้เปลี่ยนเงื่อนไขแบ่งเป็นงวด เพราะเห็นว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า แต่เมื่อวิเคราะห์กันแล้ว ต้องเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของโครงการคือกระตุ้นเศรษฐกิจ หากทยอยจ่ายเดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 เดือน ก็ไม่ต่างอะไรกับนโยบายที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งไม่เกิดกลไกในการกระชากเศรษฐกิจขึ้นเลย”
ส่วนกรณีความคิดเห็นของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ที่ได้ร่วมกันลงชื่อขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ด้วยความรอบคอบอีกสักครั้ง เพราะเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสียนั้น นายจุลพันธ์ระบุว่า คณะอนุกรรมการได้คุยเรื่องนี้ในที่ประชุม แต่ก็ยืนยันว่า นโยบายนี้มีตัวคูณทางเศรษฐกิจมากกว่าโครงการอื่นที่ทำมาแน่นอน เพราะมีการกำหนดวิธีการ เงื่อนไข และการบังคับให้เงินเพื่อบริโภคอุปโภคและลงทุนด้วย ส่วนการปรับเงื่อนไขระยะทางการใช้เงินระยะ 4 กิโลเมตรนั้น รมช.คลัง ยอมรับว่ารัฐบาลรับฟังทุกข้อคิดเห็น และมีแนวโน้มที่จะขยายระยะทางเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัด ซึ่งคณะอนุกรรมการจะหาข้อสรุปในสิ้นเดือน ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม วงเงินในโครงการนี้จะใช้เงินจากงบประมาณเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้มีตัวเลือกให้กับรัฐบาลหลายทางเลือก แต่จะใช้ทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะขณะนี้เป็นช่วงการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 อยู่ระหว่างการทำเรื่องเสนอของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณ ดังนั้น โครงการใดที่ไม่จำเป็นหรือเป็นไขมันส่วนเกินที่สามารถปรับลดได้หรือตัดได้ โดยนำงบประมาณที่เหลือมาใช้ในการพัฒนาลงทุนในโครงการต่างๆที่มีความจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายของรัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณก็จะไปดูในรายละเอียดว่ามีโครงการใดบ้างที่ไม่จำเป็น
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ยืนยันเดินหน้านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มโอกาสให้กับภาคประชาชนและครัวเรือน โดยคณะอนุกรรมการ ขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล จะนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพิจารณาการประชุมในวันที่ 12 ต.ค.นี้ จากนั้นจะนำผลสรุปเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 24 ต.ค.66
นายชัยกล่าวต่อถึงการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (10ต.ค.) ว่า กองทุนเพื่อความเสนอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เสนอของบประมาณปี 2567 ทั้งสิ้น 9 แผนงาน วงเงิน 7,094.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 1,021 ล้านบาท โดยการขอมาในครั้งนี้เป็นการขอมาหลังจากให้มีการทบทวนครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งที่ประชุม ครม.มีการถกเถียงและแสดงความคิดเห็น และมีมติให้ลับไปทบทวนข้อเสนอการของบประมาณใหม่ เนื่องจากมองว่าภารกิจอาจซ้ำซ้อนกับกระทรวงศึกษาธิการ
โดย 2 แผนงานที่ ครม.ตั้งข้อสังเกตให้มีการกลับไปทบทวนได้แก่ แผนงานที่ 2 การสร้างความเสมอภาคให้แก่การศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยและการศึกษาภาคบังคับ 4,448.96 ล้านบาท และแผนงานที่ 6 การสนับสนุนการศึกษาสูงกว่า ภาคบังคับ เช่น การสนับสนุนเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนการศึกษาต่อเนื่อง วงเงิน 1,025 ล้านบาท โดยมองว่ากระทรวงศึกษาได้งบฯไปหลายแสนล้านบาทแล้ว ที่ประชุมจึงให้เอาข้อสังเกตจาก ครม.ว่างบที่ขอมาซ้ำซ้อนกับงบประมาณกระทรวงศึกษาหรือไม่ โดยให้นำข้อเสนอกลับไปแล้วนำกลับมาเสนอ ครม.อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้หารือ แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยได้รับทราบข้อเสนอ และยืนยันว่า รัฐบาลจะสนับสนุน กสศ.อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมา กสศ.พยายามป้องกันไม่ให้เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสหลุดจากระบบการศึกษา สนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่