ซีอีโอบิ๊กคอร์ปสะท้อนภาพ "1 เดือน รัฐบาลเศรษฐา 1"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ซีอีโอบิ๊กคอร์ปสะท้อนภาพ "1 เดือน รัฐบาลเศรษฐา 1"

Date Time: 9 ต.ค. 2566 09:00 น.

Summary

  • “ผม นายเศรษฐา ทวีสิน จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เป็นรัฐบาลที่จะทุ่มเท ทำงานหนัก รับฟังเสียงของประชาชน นำความสามัคคีกลับคืนสู่คนในชาติ นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า และสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของพวกเราทุกคน นับจากวันนี้เป็นต้นไป ขอบคุณครับ”

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

คำกล่าวของนายเศรษฐา ทวีสิน ขณะรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 23 ส.ค.2566 จุดประกายให้ “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” นำมาตั้งเป็นประเด็นเพื่อนำเสนอต่อผู้อ่านในสัปดาห์นี้ ในโอกาสที่รัฐบาลเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้ราว 1 เดือน หากจะนับตั้งแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย.2566

ในฐานะตำบล “กระสุนตก” และ “สนามอารมณ์” ของคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยและผิดหวังกับการสลับขั้วจัดตั้งรัฐบาล

“เศรษฐา” ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากดับเครื่องชน ตั้งใจ ทำงาน ทำงาน และทำงาน จนเป็นที่มาของคำว่า “ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” ที่เขาสื่อออกมา

และนี่คือสิ่งซึ่ง 4 ผู้บริหารจากภาคธุรกิจขนาดใหญ่ (บิ๊ก คอร์ปอเรชั่น) ระดับซีอีโอและประธานบอร์ด มองเห็นในรัฐบาล “เศรษฐา 1 ” ตลอดช่วงเดือนเศษๆของการปฏิบัติหน้าที่

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

“การขับเคลื่อนนโยบายในช่วงเดือนที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนเห็นความรับผิดชอบ ความพยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดของนายกรัฐมนตรี”

ผมมีโอกาสเข้าไปฟังการสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีในงานไทยรัฐฟอรัมเมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา พวกเราทุกคนที่ได้รับฟัง รู้สึกเหมือนกันว่า นายกฯมีความพยายาม เอาใจใส่ สนใจในทุกรายละเอียด ประเด็นที่แก้ปัญหาไปแล้วแม้เพียงในห้วง 1 เดือน เป็นการลงลึกในรายละเอียดทั้งนั้น รัฐบาลกำลังพยายามขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ผมว่าสถานการณ์ปรับเปลี่ยนไปแล้ว ตราบใดที่ทุกคนหันมาช่วยกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ น่าจะเป็นเรื่องดี

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ในสภาวะของการเผชิญหน้ากับโรคระบาด ทุกคนเหนื่อยกันหมด แต่ประเทศไทยยังพอจะสามารถประคองชีวิตและทรัพย์สินได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ ตัวผมมีเพื่อนนักธุรกิจที่บินมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอยู่เสมอ ล่าสุดผมเป็นสมาชิกของ Asia Business Council ซึ่งเป็นเวทีที่มีเพื่อนๆ สมาชิกนักธุรกิจเอเชียมาพบปะกัน “วันหนึ่งนายกฯเศรษฐาได้เข้ามาร่วมพบปะหารือผ่านทางออนไลน์ คุยให้นักธุรกิจเอเชียฟังเรื่องนโยบายต่างๆ เช่น การยกเว้นวีซ่าให้จีน ซึ่งไม่กี่วันต่อมา ท่านก็ดำเนินการทันที”

นักธุรกิจหลายคนที่อยู่ตรงนั้น อาทิ นายโทนี่ เฟอร์นานเดส ซีอีโอของแอร์เอเชีย ตื่นเต้นใหญ่ เพราะสิ่งที่พูดออกไป นายกรัฐมนตรีทำทันที เห็นผลสะท้อนได้ชัดเจน

1 เดือนที่ผ่านมา เราทุกคนยังได้เห็นภารกิจขับเคลื่อนนโยบายโดยรวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ภาคธุรกิจหรือแม้กระทั่งสื่อ คงต้องช่วยกันทำหน้าที่ประคับประคองให้ประเทศของเราเดินหน้าเติบโตได้อย่างแข็งแรงและมั่นคงต่อไป

สำหรับประเด็นสุราพื้นบ้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจของไทยเบฟนั้น จริงๆแล้วมีการเปิดเสรี ไม่ได้มีข้อจำกัด ยกตัวอย่างสุราชุมชนที่จังหวัดแพร่ นับว่าแข็งแรงมาก มีการชำระภาษีอย่างถูกต้อง เป็นไปตามกฎระเบียบ โดยการชำระภาษีหลักหลายร้อยล้านบาท แสดงว่าต้องมียอดขายเกือบพันล้าน

ดังนั้น ผมมองว่าเรื่องนี้เสรีกันมานานแล้ว เราได้เห็นสุราพื้นบ้าน อย่างสาโท แต่การพัฒนาสุราพื้นบ้านจะค่อยๆเติบโต เป็นเรื่องปกติของผู้ประกอบการระดับไมโคร หรือเอสเอ็มอี ที่ต้องใช้เวลา

ถามว่าเรามีส่วนร่วมหรือช่วยเหลืออย่างไร เราก็มีเรื่องเกี่ยวโยงให้เห็น เช่น จัดงานอีเวนต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือช่วยสนับสนุนเรื่องเบียร์ มีเบียร์มากมายนับร้อยชนิด เบียร์พื้นบ้านต่างๆ นำเสนอรสชาติแตกต่างกัน มีความพิเศษ เป็นเรื่องราวของการค้าปกติ

“ผมไม่ได้มองประเด็นสุราพื้นบ้านเป็นข้อจำกัด ล่าสุดได้เจอกับคุณอา “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ซีอีโอ ของคาราบาวแดงที่ประกาศลุยตลาดเบียร์ ก็ยังคุยกันว่า การตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจเบียร์เป็นเรื่องดี อยากให้มองว่าการแข่งขันกันในตลาดเป็นเรื่องปกติ ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ไทยเบฟก็ต้องปรับตัว เรียนรู้ และพัฒนาไปกับสภาพการแข่งขัน”

วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี

ประธานกรรมการอาวุโส บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)

1 เดือนเศษที่ผ่านมา ผมมองเห็นความตั้งใจ ทุ่มเททำงานแบบแอคทีฟสุดๆของนายกรัฐมนตรี ต้องถือเป็นโชคดี ที่เราได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากภาคธุรกิจ ซึ่งมีความเข้าใจเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ในห้วงเวลาเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องโชคดีของประเทศ

วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี
วิวัฒน์ เลาหพูนรังษี

“ผมยังเห็นการทำงานอย่างรวดเร็ว เช่น การประกาศลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที รัฐบาลก็ทำเลย เรื่องนี้ต้องขอชม หรือเรื่องการเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ภาพของประเทศไทยบนเวทีโลกเด่นชัดขึ้น การยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีน หรือล่าสุดการขับเคลื่อนซอฟต์ เพาเวอร์ (Soft Power) ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ”

เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจขนาดนี้ ก็คงต้องให้กำลังใจ ให้เวลา ให้โอกาสในการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อต้องพิจารณาแง่มุมทางการเมือง ในฐานะรัฐบาลผสม มีหลายพรรคการเมืองเข้ามาร่วมบริหารประเทศด้วย เรื่องนี้น่าจะท้าทายนายกรัฐมนตรี ที่มาจากภาคธุรกิจมากพอสมควร

“แต่ท่านนายกฯเป็นคนรอบรู้ เชื่อว่าจะค่อยๆปรับจูนได้ในที่สุด”

สำหรับผม หากจะถามถึงข้อเสนอ ผมอยากให้รัฐบาลขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น “เมืองแห่งความบันเทิง” หรือ Entertain ment Country ที่ใครมาก็สนุก เป็นซอฟต์เพาเวอร์ที่ทำได้ไม่ยากและไม่ต้องใช้เงินมาก เป็นการคิดในภาพกว้างที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว เพราะเมืองไทยมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งอากาศ อาหาร ที่ตั้ง ผู้คน นอกจากมาเยือนเพราะความสนุกสนานแล้ว เมืองไทยยังมีโอกาสในการเป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่มคนสูงวัยและคนที่ต้องการรักษาสุขภาพด้วย

“ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังตกต่ำ ผู้คนอาจไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอย แต่คนยังอยากผ่อนคลาย สนุกสนาน หากประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของความสนุกสนาน น่าจะเป็นโอกาสที่ดี นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวยังช่วยสร้างคน สร้างงานได้ทันที”

ส่วนเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันไป ต้องกอบกู้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าการยกระดับความปลอดภัย มีระบบวงจรปิดที่ทันสมัย ตรวจจับได้ทันที จะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระยะกลางถึงยาว

และถ้ารัฐบาลทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ ปัญหาสังคมที่มีผลจากเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะเบาลงไปด้วย การเมืองก็จะเป็นจริงมากขึ้น นั่นเป็นผลดีของการได้นายกรัฐมนตรีที่ชำนาญเรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ

เดวิด หลี่

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

“ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังคงมีเสถียรภาพมาก ในส่วนของภาครัฐเอง 1 เดือนที่ผ่านมา มีความพยายามหลายประการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ทั้งนโยบายใหม่ๆ รวมถึงความมุ่งมั่นในการที่จะดึงบริษัทต่างๆ มาร่วมลงทุน เพื่อสนับสนุนศักยภาพการแข่งขันของไทยในระดับโลก”

เดวิด หลี่
เดวิด หลี่

จากมุมมองดังกล่าว สำหรับหัวเว่ย มองว่ามี 4 ปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอัจฉริยะแห่งอนาคต ได้แก่ ปัจจัยด้านข้อมูล ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านอีโคซิสเต็ม และบุคลากรด้านดิจิทัล

นอกจากการสนับสนุนด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาข้อมูลและขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หัวเว่ยมองว่าการพัฒนาศักยภาพด้านบุคลากรของไทย ก็จำเป็นต้องได้รับการยกระดับด้วยเช่นกัน

โดยเชื่อว่านโยบายที่สนับ สนุนและการลงทุนจากภาครัฐมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างโครง สร้างพื้นฐานด้านไอซีที อันจะสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง สู่ยุคดิจิทัลอย่างมั่นคง รวมถึงการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลายภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

จากการที่หัวเว่ยดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อเนื่องมาถึง 24 ปี ภายใต้พันธกิจเติบโตในไทย สนับสนุนประเทศไทย หัวเว่ยพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน นอกจากการลงทุนแล้ว หัวเว่ยจะทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์จากทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งผลักดันประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่มีความยั่งยืน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับพันธกิจของรัฐบาลไทย

วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)

มองว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเพียง 1 เดือน ระยะเวลาที่เริ่มต้นทำงานถือว่าสั้นมากๆ จึงถือว่ายังเร็วเกินกว่าจะตอบได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความมั่นใจในนโยบายรัฐบาล ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและเติบโต และมีความมั่นใจในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว

MQDC จึงยังคงเดินหน้าแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งขยายโครงการเก่า รวมทั้งการลงทุนโครงการใหม่ๆเพิ่มขึ้น

วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์
วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์

นอกจากนั้น ยังเดินหน้าจัดงาน EXPO ครั้งใหญ่เพื่อแสดงศักยภาพของบริษัทคืองาน “MQDC Well Living Expo” ถือเป็นการจัดงานครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ

โดยนำแบรนด์ที่อยู่อาศัยในเครือ MQDC มูลค่ากว่าแสนล้าน มานำเสนอในงานภายใต้พันธกิจ MQDC “For All Well-being” หรือการสร้างความสุข ให้ทุกชีวิตอย่างยั่งยืน พร้อมแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมความยั่งยืน เพื่อนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัย (Sustainnovation)

โดยปีนี้เรามีโครงการใหม่ๆที่เปิดตัวหลายโครงการ และช่วงไตรมาสสุดท้ายที่เหลือ จะมีการเปิดโครงการใหม่ล่าสุดที่ทำเลสามย่าน โครงการที่ใกล้เสร็จพร้อมส่งมอบต้นปีหน้า ซึ่งคืบหน้าไปด้วยดี.

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่าน “สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม

ฐาปน

วิวัฒน์

เดวิด หลี่

วิสิษฐ์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ