นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 66 ใหม่ โดยลดลงมาอยู่ที่ 1.0-1.7% มีค่ากลาง 1.35% จากเดิมคาดขยายตัว 1.0-2.0% ค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐานการเติบโตของเศรษฐกิจ 2.5-3% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 75-85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34.5-35.5 บาทต่อเหรียญ
สำหรับการปรับลดลงครั้งนี้ เป็นผลจากดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.ย.66 เท่ากับ 108.02 ลดลง 0.36% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.66 แต่เพิ่มขึ้น 0.30% เมื่อเทียบเดือน ก.ย.65 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว จากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล โดยเฉพาะการลดราคาน้ำมันดีเซล ค่าไฟฟ้า อีกทั้งราคากลุ่มอาหารลดลง ทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 66 เพิ่มขึ้น 1.82% เทียบช่วงเดียวกันของปี 65
“ที่น่าสนใจคือหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.10% ลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ต.ค.66 และตลอดไตรมาสที่ 4 คาดจะชะลอลงได้อีก และอาจเห็นบางเดือนมีโอกาสติดลบด้วย เพราะราคาอาหาร เครื่องประกอบอาหาร รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงาน ค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซลปรับลดลง อีกทั้งยังมีมาตรการลดค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ ที่ร่วมกับผู้ประกอบการ 288 ราย ลดราคาขายสินค้าและบริการ และแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมกว่า 1 ล้านรายการในช่วง 3 เดือนตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้”
อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระดับต่ำ และอาจติดลบนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากเรื่องรายได้ หรือกำลังซื้อที่ชะลอตัว เพราะตัวเลขรายได้การจ้างงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเป็นบวก 2.5% รายได้ภาคการเกษตรเพิ่ม 3.8% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมเงินเฟ้อ รวมถึงการว่างงานก็ลดลงเหลือ 1% แต่เป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ ทั้งราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า รวมถึงการลดราคาขายสินค้า 3 เดือนนี้ ส่วนการที่เงินเฟ้อลดลงจะมีผลทำให้ต้องหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ ธปท.
“แต่สิ่งที่ต้องจับตา ความต้องการบริโภคที่สูงขึ้นจากการท่องเที่ยว การส่งออก รายได้เกษตรกร และค่าจ้างที่อยู่ในระดับดี รายได้ภาคเกษตรสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า ที่จะเป็นแรงส่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มกว่าที่คาดได้ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.ย.66 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ลดลง 0.03% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.66 และเพิ่มขึ้น 0.63% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.65 รวม 9 เดือนเพิ่มขึ้น 1.50%”
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นเล็กน้อยในเดือน ก.ย.66 มาจากหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.59% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ได้แก่ น้ำมันกลุ่มเบนซิน และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ยกเว้นกลุ่มดีเซลและค้าไฟฟ้าที่ราคาลดลงตามการลดราคาของภาครัฐ ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.10% ลดลงครั้งแรกรอบ 23 เดือน หลังราคาสินค้าสำคัญลดลง เช่น เนื้อสุกร และไก่สด ผักสด จากภูมิอากาศเอื้อต่อการเจริญเติบโต สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ไข่ไก่ นมถั่ว.