ครม.อนุมัติพักหนี้เกษตรกร 3 ปี "คลัง" ขออีกสัปดาห์คัดกรรมการ "ดิจิทัล วอลเล็ต"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.อนุมัติพักหนี้เกษตรกร 3 ปี "คลัง" ขออีกสัปดาห์คัดกรรมการ "ดิจิทัล วอลเล็ต"

Date Time: 27 ก.ย. 2566 08:22 น.

Summary

  • ครม.ไฟเขียวพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ดีเดย์เปิดรับสมัครพักหนี้ 1 ต.ค.66 ตั้งงบ 12,000 ล้านบาทปีแรกจ่ายดอกเบี้ย จำกัดลูกหนี้ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท พักหนี้แล้วยังกู้เพิ่มได้ ส่วนดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ยังรอตั้งกรรมการ ด้านสำนักงบ ชี้คลังขอเพิ่มวงเงินใช้หนี้รายปี ตาม ม.28 รองรับรัฐใช้เงินเพิ่ม

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี โดยจะใช้เงินงบประมาณ 12,000 ล้านบาทในปีแรกก่อน มีเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีสิทธิเข้าร่วมมาตรการ 2.70 ล้านราย มูลหนี้ 300,000 ล้านบาท แต่ลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมมาตรการต้องแจ้งความประสงค์เอง เพราะเป็นมาตรการแบบสมัครใจ ผ่านสาขาธนาคาร หรือเช็กสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ได้ เริ่มสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 -30 ม.ค.67 เมื่อตรวจสอบสภาพการเงินแล้ว พบว่ามีสิทธิพักหนี้ ธ.ก.ส.จะติดต่อเพื่อเซ็นสัญญาใหม่เป็นรายปี

การพักหนี้ปีแรกนี้จะใช้เงินราว 12,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายดอกเบี้ยแทนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพร้อมทั้งฝึกอบรม ฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกร รวมถึงการเพิ่มเงินกู้ให้เกษตรกรวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้มีเงินทุนไปลงทุนต่อยอดซื้อปัจจัยการผลิต ป้องกันการไปกู้เงินนอกระบบ โดยกรณีการกู้เงินเพิ่มนั้น ธ.ก.ส.จะตรวจสอบศักยภาพของลูกหนี้ก่อนว่ามีศักยภาพที่จะชำระหนี้เงินกู้เพิ่มหรือไม่ หลังจากหยุดพักหนี้และพักดอกเบี้ยเดิมไปแล้ว ส่วนลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย หรือ NPLs จะเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.เสร็จสิ้นแล้ว เบื้องต้นต้องชำระหนี้เดิมให้ได้ภายใน 3 เดือน จึงจะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ได้

“รัฐบาลเชื่อว่ามาตรการพักหนี้ครั้งนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป ส่วนพักหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะเป็นครั้งถัดไป เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล”

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า จากลูกค้าที่อยู่ในเกณฑ์เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ของ ธ.ก.ส. 2.7 ล้านราย มีการกำหนดเกณฑ์ลูกค้าที่เข้าร่วมต้องมีมูลหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท ทำให้คาดว่าจะมีลูกค้าเข้าร่วมมาตรการได้จริงกว่า 70% ของลูกหนี้ดังกล่าว และในจำนวนนี้ เป็นลูกหนี้สถานะ NPLs จำนวน 600,000 ราย มูลหนี้ 36,000 ล้านบาท โดยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้สถานะลูกค้า NPL กลับมาปกติ และฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า การดำเนินมาตรการพักหนี้เกษตรกรครั้งนี้ มีความแตกต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมา โดยมีจุดเด่น 5 ประการ ได้แก่ 1.คงหนี้ชั้นเดิมไว้ 2.หากมีการชำระหนี้จะมีการเปลี่ยนลำดับการชำระหนี้ มาตัดเงินต้นก่อน 3.ให้สินเชื่อเพิ่มเติม 4.เพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการดูแลเพิ่มความสามารถเกษตรกร และ 5. ลูกหนี้ NPL ตั้งใจให้หนี้ NPL ลดลง ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ และจ่ายเงินต้น

ส่วนความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทต่อคนนั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปรายชื่อการตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากต้องพิจารณาให้รอบด้านเพื่อความรอบคอบ เพราะโครงการดิจิทัล วอลเล็ตใช้เงินมากกว่า 560,000 ล้านบาท ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยสัปดาห์หน้าจะเสนอรายชื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา โดยจะมีนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธาน ส่วนการใช้เงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณา ซึ่งฟันธงยังไม่ได้ แต่รัฐบาลยึดกรอบวินัยการเงินอย่างเคร่งครัด โดยยังคงเป้าหมายการแจกเงินไว้ที่ 1 ก.พ.2567 หรือภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

ด้านนายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณได้หารือกับกระทรวงการคลังว่าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่หน่วยงานต่างๆอยู่ระหว่างจัดทำคำขอส่งมายังสำนักงบประมาณในวันที่ 6 ต.ค.นี้ ซึ่งคลังจะจัดสรรงบประมาณเพื่อจ่ายหนี้คืนตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีภารกิจมากขึ้น และมีรายจ่ายที่ต้องใช้มากขึ้น จึงต้องมีการตั้งงบประมาณไปจ่ายเพิ่มเติม และหากมีการเพิ่มเพดานมาตรา 28 ก็ต้องเพิ่มการใช้หนี้ ตามกำลังที่รัฐบาลจะสามารถจ่ายได้ด้วย โดยจากเดิมตั้งงบประมาณในส่วนนี้ไว้ 80,000 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นให้ไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท โดยวงเงินที่จะมาจ่ายหนี้เพิ่มขึ้นมาจากกรอบวงเงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในปีงบ 67 ประมาณ 130,000 ล้านบาท.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ