ขึ้นค่าจ้างตามทักษะแรงงาน เอกชนย้ำ! ค่าแรงขั้นต่ำตามมติไตรภาคี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ขึ้นค่าจ้างตามทักษะแรงงาน เอกชนย้ำ! ค่าแรงขั้นต่ำตามมติไตรภาคี

Date Time: 27 ก.ย. 2566 07:07 น.

Summary

  • ขึ้นค่าแรง 400 บาท ยังลูกผีลูกคน! สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานฯหนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 1 ม.ค.67 แต่ต้องผ่านความเห็นของกลไกไตรภาคี ยึดหลักการให้สอด คล้องกับเศรษฐกิจ–เงินเฟ้อ–ความเป็นอยู่ลูกจ้าง และความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เน้นขึ้นค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงานเพื่อความยั่งยืน แนะเพิ่มหลักสูตรอบรมนายจ้าง โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้ปรับตัวจี้รัฐตั้งกองทุนเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่าน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติชุดที่ 20 เปิดเผยหลังนำคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาฯเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ว่า ได้หารือถึงอนาคตตลาดแรงงานไทย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐบาลจะต้องมีแผนเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ควบคู่ไปกับการขยายตัวของค่าจ้าง ที่มุ่งเน้นอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อความยั่งยืนของตลาดแรงงานและภาคธุรกิจไทยอย่างแท้จริง

“ผมได้เสนอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดทำหลักสูตรการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จากเดิมที่มีแต่ลูกจ้าง เพราะหากนายจ้างต้องการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะลูกจ้างให้ดีขึ้น (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) หากนายจ้างโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)ไม่มีทักษะที่จะเปลี่ยนแปลง จะไปพัฒนาลูกจ้างก็คงไม่เกิดประโยชน์”

นอกจากนี้ ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ก็จะต้องนำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ที่ทันสมัยเข้ามาประกอบการดำเนินธุรกิจ และการ บริการให้มากขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นระบบอัตโนมัติ (AI) เสมอไป หากยังมีในเรื่องของการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมงานต่างๆให้เร็วและลดต้นทุน เช่น แอปพลิเคชันต่างๆเพื่อการขายการบริการ อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยมีการปรับตัว โดยเฉพาะเทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องอาศัยทุน ซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากขึ้น รัฐบาลจึงควรจัดตั้งกองทุนเทคโนโลยี เพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน

สำหรับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล ที่มีเป้าหมายจะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 นั้น จากการหารือกับ รมว.แรงงาน ได้เห็นตรงกันว่า ควรปรับขึ้น แต่ควรผ่านความเห็นของกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ที่จะมีขั้นตอนตั้งแต่การเสนอค่าแรงจากไตรภาคีจังหวัด โดยยึดหลักการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความเป็นอยู่ของลูกจ้าง และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกัน ในประเด็นของแรงงานต่างด้าว นายพิพัฒน์ได้ยืนยันจะดูแลให้ทั้งฝั่งแรงงานและนายจ้าง โดยจะมีมาตรการต่ออายุ ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอให้มีการแยกแรงงานต่างด้าว สำหรับภาคเกษตรและภาคการผลิตออกจากกัน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวสำหรับภาคเกษตรที่ผ่านมาจะไม่มีความชัดเจน เพราะฤดูเก็บเกี่ยวของภาคเกษตรมีระยะเวลาสั้นๆก็จะจบลง แต่เมื่อใช้กฎหมายเดียวกัน ทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากัน จึงควรจะแยกเพื่อให้อัตราค่าจ้างแตกต่างกันตามความเหมาะสมของประเภทงาน

“ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมไทยติดกับดัก หยุดใช้แรงงานเข้มข้น เราจึงต้องเปลี่ยนไปสู่การใช้นวัตกรรมที่เข้มข้นแทน ซึ่งต้องพัฒนาด้วยตนเองด้วย จะเล็กน้อยก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะการเติบโตจากรายเล็ก ไปสู่กลางและใหญ่ ต้องแข่งขันกับรายใหญ่และต่างชาติตลอดเวลา และปัจจุบันการค้าโลกก็มุ่งสู่องค์กรแห่งความยั่งยืน ผู้ประกอบการก็ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น”.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ