ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่น GDP ปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% คาด ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หั่น GDP ปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% คาด ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25%

Date Time: 26 ก.ย. 2566 15:41 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% แม้ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ รวมทั้งค่าเงินบาท ที่มองว่าในระยะสั้นจะอ่อนตัวต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% แม้ความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่ รวมทั้งค่าเงินบาท ที่มองว่าในระยะสั้นจะอ่อนตัวต่อเนื่อง คาดว่าในการประชุม กนง. ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% พร้อมชี้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายอย่าง รัฐบาลต้องให้ความสำคัญพร้อมกับมาตรการ Quick Win 

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนีที่พึ่งพาการส่งออกสูง นอกจากนั้น จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลลบกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ

อีกทั้งเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ ส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ในปี 2567 ซึ่งปีหน้าได้มีการคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะลดดอกเบี้ยประมาณ 4 ครั้ง แต่เมื่อดูจะพบว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยแค่ 2 ครั้งเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าเป้า ถึงแม้ FED จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรง ขณะที่ยอดค้าปลีกยังคงขยายตัวได้ดี 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่องและยังคงถูกกดดันจาก จากภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ยอดขายบ้านใหม่ของจีนยังคงปรับลดลง แม้ทางการจีนจะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาคอสังหาริมทรัพย์ จากการสำรวจยอดขายบ้านใหม่โดยอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุด 100 ราย พบว่าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาลดลง 33.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าภาคธนาคารจีนได้มีการปล่อยสินเชื่อให้ภาคอสังหาริมทรัพย์สูงถึง 40% ของ GDP แล้วก็ตาม

ทำให้ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาไทยเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าที่จะหดตัวอยู่ที่ 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1% ซึ่งหากมองถึงภาคการส่งออกทั่วโลกก็นับว่าหดตัวเช่นกัน โดยการค้าโลกหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2565 ซึ่งกดดันการส่งออกของจีนและไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกของจีน ที่เผชิญกับปัญหา Oversupply จึงทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับลดลงกว่า 20% 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรง

นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงได้รับผลจากการที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ (โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน) รวมถึงภาคการผลิตที่ยังชะลอต่อเนื่องหลังเดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา จากการที่อุปสงค์โลกอ่อนแอ บวกกับอุปสงค์ภายในประเทศก็อ่อนด้วยเช่นกัน จึงถือได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด 

ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอ ได้กดดันเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ดังนั้นโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องการเครื่องยนต์ใหม่ๆ เข้ามาเพื่อผลักดันให้การฟื้นตัวดีขึ้น 

ขณะเดียวกันยังมีในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะแนวโน้มการเร่งตัวของหนี้รหัส 21 หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ไม่ปกติ เช่น โควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออยู่ สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวต่อเนื่อง

อีกทั้งกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ที่มีจำนวนบัญชีใกล้ๆ 5 ล้านบัญชี ส่วนยอดหนี้ใกล้ 4 แสนล้านบาท สะท้อนว่าเศรษฐกิจที่เป็นแบบนี้ทำให้เกิดหนี้เสีย และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของ ธปท. และศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในการประชุม กนง. ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% แต่อาจจะทิ้ง option ไว้ที่จะขึ้นดอกเบี้ยได้ในอนาคต เพราะ ธปท.อาจจะกังวลในส่วนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในปีหน้าอาจจะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อได้ จึงหยุดและเพิ่มเพื่อประมวลสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

สำหรับค่าเงินบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะสั้นจะอ่อนตัวต่อเนื่องประมาณ 36.3-36.6 บาทต่อดอลลาร์ หากดู ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าจากแนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับไทยที่จะอยู่ในระดับสูงอีกสักระยะ และประเทศไทยยังน่าจะรักษาอันดับความน่าเชื่อถือเอาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคตกับการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลในระยะต่อไป

มาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น 'ไทย' ต้องช่วงชิง

ในบริบทที่การค้าโลกมีนโยบายกีดกันการค้าที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร จึงต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง 

ขณะเดียวกันทางด้านนโยบายที่รัฐบาลประกาศไปและจะดำเนินการเพิ่มเติม โดยเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้จำกัดในปี 2566 แต่คาดว่าจะเห็นผลบวกชัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567 นอกจากนั้นเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญไปพร้อมๆ กับมาตรการ Quick Win ที่กำลังดำเนินการอยู่

“ความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงโครงสร้าง โดยไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ใน 6 ปี หรือ 2572 อัตราส่วนคือจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 20.6% ซึ่งมีการมองว่ารายได้จากผู้เกษียณอายุจะมาจากที่ใด ดังนั้น รัฐบาลจะต้องมีการยกให้อายุเกษียณเพิ่มแบบที่หลายๆ ประเทศทำ รวมทั้งไทยยังคงติดกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาแก้ไขว่าจะหาเครื่องมือใดมาซัพพอร์ตเพื่อให้ก้าวข้ามตรงจุดนี้ได้ ขณะที่แรงงานในภาคเกษตรสร้างรายได้เพียง 8.9% ของ GDP โดยที่รัฐบาลอาจจะต้องเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่จะเร่งด่วน ซึ่งใน 3 ปีข้างหน้าเราจะเห็นได้ว่าแรงงานเกษตรอาจจะผลิต GDP ได้มากกว่า 9% รวมทั้ง Ease of Doing Business ไทยตามหลังสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยไทยอยู่อันดับที่ 21 ดังนั้นไทยต้องหาจุดขายของตนเองให้ได้ ซึ่งเป็นโจทย์หนึ่งที่รัฐบาลตระหนักและจะมีการแก้ไขมากขึ้น”

ดังนั้นในปัจจุบันไทยยังรักษาอันดับความน่าเชื่อถือไว้ได้ แต่รัฐบาลต้อง deliver growth กับรักษาวินัยทางการคลังอย่างต่อเนื่องนั่นเอง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ