ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11:30 น.วันที่ 19 ก.ย. 2566 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้เข้าพบหารือกับลาร์รี่ ฟินก์ (Larry Fink) ซีอีโอ กลุ่มบริษัท BlackRock ผู้นำในการบริหารการเงิน และการลงทุนของโลกเป็นรายแรก เพื่อศึกษาแนวทางการลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดเพื่อขยายฐานการลงทุน และการผลิตในประเทศไทย
ทั้งนี้ ซีอีโอ BlackRock ให้ความสนใจที่จะลงทุนในพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Linked Bond) ที่จะออกโดยรัฐบาลไทย และมีแนวโน้มในการลงทุนในบริษัทในประเทศไทยเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง
ชัย วัชวงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า การเดินทางมานครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีเป้าหมายชัดเจน ที่จะชักชวนดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนสหรัฐฯให้เข้าไปลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากในช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่จากนักลงทุนต่างชาติเลย
สำหรับกองทุน Black Rock เป็นบริษัทจัดการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเงินทุน 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราว 250 ล้านล้านบาท แค่เพียงบริษัทเดียวจะเห็นว่ามีเงินลงทุนมากขนาดไหน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะชักชวนให้มาลงทุนในไทย
นอกจากนี้ ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อข้อครหาของการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจของนายกรัฐมนตรี ว่านายกรัฐมนตรีเดินทางถึงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อตีสองที่ผ่านมา (19 กันยายน 2566) และมีภารกิจในการเดินทางมาร่วมประชุมค่อนข้างมาก ซึ่งภารกิจของนายกรัฐมนตรี แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้
1.การร่วมการประชุมระดับพหุภาคีภายใต้กรอบสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญครั้งที่ 78 ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะได้กล่าวสุนทรพจน์ในรูปแบบเดียวกับผู้นำประเทศอื่น โดยจะได้กล่าวถึงมุมมองเป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน การประชุมในกรอบของการประชุมอาเซียนซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาและความท้าทายระดับโลก รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะได้เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองจัดโดยประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาและภรรยาซึ่งจะถือเป็นโอกาสสำคัญให้ประเทศไทยได้กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำระดับโลกอื่นๆ
2. การพบหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำและบุคคลสำคัญระดับนานาชาติได้แก่ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เลขาธิการสหประชาชาติประธาน FIFA ซึ่งจะตรงกับความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีที่จะพัฒนาการฟุตบอลไทยให้มีโอกาสมากขึ้นในเวทีโลก
3. ความตั้งใจเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นความพยายามของท่านนายกรัฐมนตรีที่ตั้งใจให้เกิดการลงทุนให้เงินทุนไหลเข้าไปในประเทศไทยผ่านการลงทุนขนาดใหญ่โดยนายกรัฐมนตรีจะได้พบกับบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ Blackrock SpaceX / Citibank / Tesla / Goldman Sachs / JP Morgan / Estee Lauder / Microsoft / Google ทั้งนี้ หากมีการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ จะเพิ่มเม็ดเงินหลายพันล้านในประเทศไทย
รวมทั้งจะมีกิจกรรมที่สำคัญอีก ได้แก่ การประชุมมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทยประจำสหรัฐฯ และการพบปะชุมชนไทยในสหรัฐฯ
กิจกรรมทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้ ถูกอัดแน่นในเวลา 3 วันที่นายกรัฐมนตรีปฏิบัติภารกิจที่สหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีจะเดินทางออกจากสหรัฐฯ คืนวันที่ 22 กันยายน 2566 แต่ด้วยการเดินทาง และความต่างของ Time Zone จะทำให้นายกรัฐมนตรีเดินทางถึงไทยเช้าวันที่ 24 กันยายน 2566
ทั้งนี้ ในส่วนของประเด็นเรื่องพาหนะการเดินทางของนายกรัฐมนตรี และผู้ร่วมเดินทาง นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ได้แถลงเพื่อชี้แจงข้อสงสัยแก่สังคมแล้ว ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า การเดินทางมาร่วมการประชุมของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับประเทศไทยอย่างแน่นอน
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ