นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน BOT Digital Finance Conference 2023 ภายใต้แนวคิด Building Ecosystem for Responsible Innovation เมื่อวันที่ 14-15 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า เพื่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัล และระบบชำระเงินในอนาคต ซึ่ง ธปท.ได้ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น 1.การพัฒนา common utility ที่เป็นเสมือนบริการสาธารณะของภาคการเงินดิจิทัล โดยเป็นตัวกลางในการเชื่อมระบบชำระเงินต่างๆที่มีหลายระบบในขณะนี้ให้ต่อกันได้ทั้งหมดในครั้งเดียว ไม่ต้องแยกระบบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการหรือแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับความต้องการยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ธปท.จะปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและส่งเสริมการสร้างมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการต่างๆ ภายใต้การกำกับดูแล เพื่อลดภาระต้นทุนและสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูลตามความยินยอมของผู้ใช้บริการ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรับส่งข้อมูลจากภาคส่วนอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และพัฒนาเครื่องมือ (use cases) ที่สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินร่วมกันได้ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการส่งข้อมูลการเงิน และอาจจะมีผลดีต่อการคิดค่าธรรมเนียมของลูกค้าในอนาคตให้ลดลงได้
2.ธปท.จะพัฒนาระบบนิเวศด้านการชำระเงินดิจิทัลที่เพิ่มโอกาสการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ โดยผู้เล่นที่หลากหลายและสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่ less-cash society ด้วยการปรับปรุงกฎเกณฑ์และทบทวนโครงสร้างค่าธรรมเนียม 3.การพัฒนา New Sandbox ที่ยืดหยุ่นยิ่งขึ้น เพื่อให้การทดสอบนวัตกรรมการเงินร่วมกับภาคธุรกิจง่ายและเป็นจริงได้มากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทดสอบนวัตกรรมที่กฎหมายยังไม่รองรับ (unregulated activities) ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น tokenization ที่ช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น และ programmability ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน ธปท.ยังจะทำงานร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ AI ในภาคการเงิน เช่น การตรวจจับและป้องกันการฉ้อโกง หลอกลวงทางการเงิน (fraud) รวมทั้งการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วย.