นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ข้อจำกัดนโยบาย จาก ”คนละครึ่ง” ถึง “คนละหมื่น”

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ข้อจำกัดนโยบาย จาก ”คนละครึ่ง” ถึง “คนละหมื่น”

Date Time: 12 ก.ย. 2566 12:38 น.

Video

“The Summer Coffee Company” มากกว่า เครื่องดื่ม คือ ความสุข | Brand Story Exclusive EP.3

Summary

  • นักวิชาการจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ถอดบทเรียนจากงานวิจัยโครงการ “คนละครึ่ง” แนะแนวทางแจกเงินให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้มากที่สุด

Latest


หลังนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายรัฐบาลของคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 1” ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ถึงความเป็นไปได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจนั้น เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ


นักวิชาการจากเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ถอดบทเรียนจากงานวิจัยโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อเป็นแนวทางแจกเงินให้เม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้มากที่สุด

โดย รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทว่า อยากให้รัฐบาลออกแบบวิธีการแจกเงินอย่างระมัดระวังและให้มีประสิทธิผลสูงสุด


เนื่องจากฐานะทางการคลังของประเทศไทยไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งต้นทุนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตกว่า 5 แสนล้านบาท จะคิดเป็นต้นทุนทางการคลังประมาณ 3.5% ของจีดีพีไทย 

โดยวิธีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถแบ่งได้เป็นสองแบบกว้างๆ ดังนี้

  1. การแจกเงินแบบดั้งเดิม (Traditional Cash Stimulus) เป็นการให้เงินทั้งก้อนโดยตรง โดยไม่กำหนดวิธีการใช้จ่ายใดๆ ซึ่งมักได้ประสิทธิผลต่ำ เนื่องจากประชาชนมักไม่นำเงินไปใช้จ่ายทั้งหมดในทันที หรือ อาจนำไปออมแทน อีกทั้งมีโอกาสนำเงินไปซื้อสินค้าใหญ่ชิ้นเดียว ทำให้ไม่เกิดการกระจายเงินอย่างทั่วถึง
  2. การแจกเงินเพื่อการบริโภคโดยเฉพาะ (Consumption-mandated Stimulus) เป็นที่นิยมในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ผ่านการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มมา เป็นตัวกลางในการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายและกลุ่มเป้าหมาย เช่น ประเทศจีนที่มีการให้คูปองดิจิทัลผ่านการกำหนดเงื่อนไขการจ่ายร่วม (Co-payment) โดยรัฐจะให้คูปองส่วนลดเมื่อประชาชนใช้จ่ายถึงยอดที่กำหนด และประเทศไทยที่รัฐร่วมจ่ายครึ่งหนึ่งในโครงการคนละครึ่งผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

“การประเมินจากฝั่งรัฐบาลว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า หรือ 3 ล้านล้านบาทจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ดูจะเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง อย่างไรก็ตามการออกแบบนโยบายการแจกเงินโดยมีเงื่อนไขให้คนควักกระเป๋าตัวเองออกมาจ่ายด้วย จะช่วยให้เราเห็นประสิทธิผลที่สูงขึ้นได้”

เปิดผลวิจัย ผลกระทบร้านค้าในโครงการ “คนละครึ่ง”


นอกจากนี้ผลการทำวิจัยเรื่อง Digital Fiscal Stimulus, SMEs, and the Consumer: Insights from Thailand's Half and Half program ร่วมกับ LINE MAN Wongnai เพื่อศึกษาผลกระทบของโครงการคนละครึ่งต่อพฤติกรรมของร้านค้าและผู้บริโภคยังพบว่า

ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเปรียบเทียบกับร้านค้าที่ไม่เข้าร่วม โดยกลไกหลักของโครงการคนละครึ่งคือ การขยายฐาน ลูกค้าให้แก่ร้านที่เข้าร่วมโครงการ 


นอกจากนี้ อีกข้อค้นพบที่สำคัญคือ แม้จะจบโครงการไปแล้ว แต่ยอดขายของร้านค้า ที่เข้าร่วมยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเข้าโครงการ เพราะร้านค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ซึ่งการการกำหนดให้ผู้บริโภคร่วมจ่ายด้วย จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ 


ข้อจำกัดที่รัฐบาลต้องคำนึง เมื่อแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท


อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ผู้บริโภคร่วมจ่ายด้วยเหมือนคนละครึ่ง ก็ควรกำหนดเงื่อนไข ให้มีเพดานจำกัดการใช้จ่ายในแต่ละครั้ง ไม่ให้ใช้ทีเดียวหมด จะเป็นการกระจายฐานลูกค้าไปยังร้านค้าอื่น ยิ่งหากโฟกัสที่ร้านค้าขนาดเล็ก จะมีโอกาสสร้างผลกระทบเชิงบวกในระยะยาวอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้

อีกทั้งการกำหนดประเภทของสินค้าที่ต้องใช้จ่ายก็มีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคเช่นกัน ควรเป็นการกำหนดให้ซื้อเฉพาะสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร แต่หากอนุญาตให้ซื้อสินค้าคงทนได้แบบครั้งเดียวจบ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อวันนี้ และไม่มีความจำเป็นต้องซื้อในอนาคตอีกต่อไป 


ผลที่ได้จึงเป็นเพียงการโยกเงินในอนาคตมาใช้ก่อน (Intertemporal Substitution) ตัวอย่างเช่น โครงการ Cash for Clunkers ของสหรัฐอเมริกา สมัยวิกฤติซับไพรม์ปี 2552  ที่รัฐบาลสหรัฐฯ แจกเงินประมาณ 3,500-4,500 ดอลลาร์สหรัฐ (120,000-160,000 แสนบาท) ในการกระตุ้นให้คนซื้อรถใหม่เพิ่มขึ้น แต่หลังจากจบโครงการ ยอดขายรถยนต์ดิ่งลงอย่างชัดเจน ในขณะที่งานศึกษาของ รศ.ดร.อธิภัทร ไม่พบการโยกเงินในอนาคตลักษณะนี้จากโครงการคนละครึ่ง ซึ่งส่วนมากเป็นการซื้ออาหารต่างๆ


อย่างไรก็ตาม วินัยการคลังที่เคยเป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาตลอดกำลังกลายเป็นจุดอ่อน โดย รศ.ดร.อธิภัทร ชี้ว่าการหาแหล่งเงินเพื่อสนับสนุน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้ อาจทำให้รัฐต้องปรับแก้กรอบวินัยการคลังที่ควบคุมการกู้เงินต่างๆ ซึ่งหากรัฐบาล ไม่สามารถหาข้อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ได้แข็งแรงเพียงพอ ความพยายามที่จะแก้กรอบวินัยการคลังเหล่านี้ อาจทำให้สถาบันจัดอันดับความเสี่ยงต่างๆ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการกู้ยืมของประเทศในอนาคต


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์