ดร.ฐิติมา ชูเชิด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์
การประชุมแจ็กสัน โฮล (Jackson Hole) เป็นการประชุมประจำปี ของธนาคารกลางสหรัฐฯร่วมกับธนาคารกลางทั่วโลก ผู้วางนโยบาย นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำทั่วโลกที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง เพื่อนำเสนอและตกผลึกประเด็นเศรษฐกิจสำคัญและทิศทางนโยบายข้างหน้าร่วมกัน งานปีนี้จัดขึ้นช่วงวันที่ 24-26 ส.ค. ในธีม “Structural Shifts in the Global Economy” เน้นนัยต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก
การประชุมปีนี้มีหัวข้อหนึ่งเกี่ยวกับ “Globalization at an Inflection Point” เป็นการแชร์มุมมองผ่านเลนส์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น และอังกฤษ รวมถึงเลขาธิการองค์การการค้าโลก พอสรุปคร่าวๆได้ดังนี้
1.ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เร่งให้โลกเปลี่ยนผ่านสู่ Deglobalization และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจโลกตามมา เห็นจากรูปแบบการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไป เช่น อังกฤษและสหภาพยุโรปพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียสูง แม้ถูกรัสเซียบีบก็ต้องยอมจ่าย ทำให้ต้นทุนพลังงานแพงมาก กระทบเงินเฟ้อ สูงและกดดันรายได้ที่แท้จริง จนรัฐบาลต้องเร่งปรับโครงสร้างการนำเข้าพลังงานพึ่งพาชาติพันธมิตรมากขึ้น สำหรับญี่ปุ่นก็เริ่มเห็นภาพรวมการค้า และการลงทุนไหลไปจีนลดลง แต่ไหลไปประเทศอื่นในเอเชียและอเมริกาเหนือมากขึ้น รวมถึงไหลกลับมาลงทุนอุตสาหกรรมในประเทศเพิ่มขึ้น
2.ญี่ปุ่นกระจายการค้าและการลงทุนไปประเทศอื่นที่ไม่ใช่จีนมากขึ้น จากหลายสาเหตุ ญี่ปุ่นหันไปประเทศอาเซียนมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องการลดความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันก็มองเห็นศักยภาพความต้องการซื้อสูงขึ้นในภูมิภาคนี้ ส่วนญี่ปุ่นหันไปค้าขายและลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลสหรัฐฯปรับนโยบายอุตสาหกรรมจูงใจให้เข้าไปลงทุน ผ่านการออกกฎหมายสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ เช่น Inflation Reduction Act และ CHIPS and Science Act
นอกจากนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น (reshoring) ตามนโยบายสนับสนุนบางอุตสาหกรรมของรัฐบาล เช่น เซมิคอนดักเตอร์ มองไปข้างหน้าผลสำรวจบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นต้องการกระจายการลงทุนนอกจีนต่อเนื่อง โดยมีอเมริกาเหนือ เวียดนาม ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย อยู่ในความสนใจลำดับต้นๆ
3.โลกจะเสียประโยชน์จากการเปลี่ยนผ่านเป็น Deglobalization องค์การการค้าโลก (WTO) ศึกษาว่า อัตราการเติบโตระยะยาวของโลกจะลดลง 5% โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่อาศัยกระแสโลกาภิวัตน์ในการพัฒนาประเทศสูงจะถูกกระทบแรงกว่าเท่าตัว เพราะ Globalization ทำให้เกิดรูปแบบการค้าที่คาดการณ์ได้ ช่วยดึงให้เงินเฟ้อโลกต่ำและลดความผันผวนของราคา ช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในทางกลับกัน Deglobalization ทำให้ประเทศ แตกแยกส่วนและหาขั้วพันธมิตร การกีดกันการค้าการลงทุนระหว่างขั้วจะเพิ่มต้นทุน ทำให้ราคาสูงและผันผวนขึ้น ลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
การเปลี่ยนผ่านสู่ Deglobalization จะชัดเจนขึ้นอีก แม้แต่ละประเทศจะยังคงต้องพึ่งพาการค้าการลงทุนระหว่างกัน แต่ปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจะบีบให้ธุรกิจต้องปรับตัว สร้างสมดุลใหม่ระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกับการลดการกระจุกตัวของห่วงโซ่อุปทาน
ในจังหวะที่โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ Deglobalization กระจายการค้าการลงทุนระหว่างขั้วชัดเจนขึ้น (infection point) ประโยชน์จะอยู่กับประเทศที่พื้นฐานเศรษฐกิจดี โครงสร้างพื้นฐานพร้อม หาจุดแข็ง ให้เข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลกที่กำลังปรับใหม่กันอยู่ได้ค่ะ.