FinTech กับโอกาสการพัฒนาเชิงพื้นที่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

FinTech กับโอกาสการพัฒนาเชิงพื้นที่

Date Time: 26 ส.ค. 2566 05:30 น.

Summary

  • การมีโจทย์การพัฒนาที่ชัดเจนซึ่งเกิดจากการตกผลึกร่วมกัน ระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้เล่นในอุตสาหกรรม และผู้ใช้บริการ โดยโจทย์ดังกล่าวมีความยืดหยุ่นสามารถปรับได้หากสถานการณ์เปลี่ยนไป สำหรับประเทศไทยเองนั้น โจทย์ที่ใช่ของการพัฒนา FinTech ควรสอดรับกับการพัฒนาการของภาคเศรษฐกิจจริงโดยเฉพาะในเชิงพื้นที่

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

การเติบโตของ FinTech (Financial Technology) ที่ผสมผสานระหว่างการพัฒนาการด้านเทคโนโลยีที่มีต้นทุนถูกลงควบคู่ไปกับการนำมาใช้ประโยชน์ในวงกว้างของผู้ใช้บริการทางการเงินตามความจำเป็นในช่วงวิกฤติโควิด ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมขยายวงจากภาคการเงินผ่านการบริการ ผู้เล่น แพลตฟอร์ม และกฎเกณฑ์ใหม่ๆไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงที่ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับผลบวกจากโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจถูกอาชญากรทางเทคโนโลยีล่อลวงหากขาดความรู้ความเข้าใจในด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเพียงพอ ในวันนี้จะขอร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกับทุกท่านถึงตัวอย่างการใช้ประโยชน์ FinTech เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่

ดร.สันติธาร เสถียรไทย ได้กล่าวถึงหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาการ FinTech ของประเทศสิงคโปร์ในวงเสวนาเรื่อง “ฟินเทคเพื่อทุกคน : โอกาสและความท้าทาย” ของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย Fair Finance Thailand ว่า คือ การมีโจทย์การพัฒนาที่ชัดเจนซึ่งเกิดจากการตกผลึกร่วมกัน ระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้เล่นในอุตสาหกรรม และผู้ใช้บริการ โดยโจทย์ดังกล่าวมีความยืดหยุ่นสามารถปรับได้หากสถานการณ์เปลี่ยนไป สำหรับประเทศไทยเองนั้น โจทย์ที่ใช่ของการพัฒนา FinTech ควรสอดรับกับการพัฒนาการของภาคเศรษฐกิจจริงโดยเฉพาะในเชิงพื้นที่

ขอหยิบยกตัวอย่างที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เล็งเห็นถึงโอกาสที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในปัจจุบัน จึงมุ่งหวังที่ไม่เพียงจะกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ปรารภถึงการเติมเต็มครอบครัวที่แหว่งกลางในพื้นที่อันเนื่องมาจากการที่คนในวัยทำงานฝากลูกหลานให้ผู้สูงอายุเลี้ยงดู ขณะที่ออกไปทำงานในเมืองกรุง

โดยริเริ่มนโยบาย “พ่อจ๋า แม่จ๋า กลับบ้าน” บูรณาการร่วมกับการทบทวนแผนพัฒนาจังหวัด ผ่านการระดมความคิดเห็นกับทั้งข้าราชการ นักเศรษฐศาสตร์ นักยุทธศาสตร์ นักการตลาด และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ภาคเอกชน ซึ่งการทำงานเปิดกว้างถึงการใช้งานข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับแพลตฟอร์มต่างๆ ประกอบการกำหนดตัวชี้วัดผลการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในการดึงดูดคนชัยนาทคืนถิ่น

จังหวัดชัยนาทมีข้อได้เปรียบที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและมีเส้นทางคมนาคมสะดวก ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่คนรุ่นใหม่ทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs จะสามารถปรับตัวในรูปแบบ Work From Anywhere เพื่อให้ได้อยู่กับครอบครัวขณะที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการใช้งาน FinTech เพื่อสร้างโอกาสให้คนที่อาจจะเคยมีรายได้ประจำในเมือง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างตัว หรืออาจจะต่อยอดไปจนสร้างกลไกในการระดมทุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันของคนที่เข้าใจความต้องการในพื้นที่เป็นอย่างดี ควบคู่ไปกับการบริหารโครงการโดยภาคเอกชนมืออาชีพ ขณะที่ภาคการเงินร่วมบริหารจัดการความเสี่ยง

ภาคการศึกษา อาทิ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดทำโครงการศึกษาวิจัย เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและงานในอนาคต : การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคการเงิน ภายใต้แผนงานอาเซียนในกระแสแห่งความพลิกผัน ระยะที่ 2 ด้วยทุนสนับสนุนการวิจัย ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะร่วมลงพื้นที่ เพื่อศึกษาบทบาทของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในภาคการเงินในจังหวัดชัยนาท ให้เข้าถึงองค์ความรู้ในเชิงคุณภาพ ที่จะสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคของการใช้งาน FinTech ก่อนที่จะประยุกต์ใช้ประกอบการออกแบบนโยบายของจังหวัด ตลอดจนสามารถถอดบทเรียนสำหรับพัฒนาภาคการเงินอีกด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ