จับตาเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความยั่งยืน ไพ่ใบใหม่ สร้าง New S-Curve อุตฯ ท่องเที่ยวไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตาเทรนด์ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความยั่งยืน ไพ่ใบใหม่ สร้าง New S-Curve อุตฯ ท่องเที่ยวไทย

Date Time: 24 ส.ค. 2566 10:48 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • Thairath Money สรุปทิศทางการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยไปสู่ New S-Curve ใหม่ ภายใต้หัวข้อการบรรยาย The Next S-Curve of Thai tourism ในงานเสวนา Thailand Focus 2023

Latest


ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน Thailand Focus 2023 ครั้งที่ 17 ภายใต้ธีม "The New Horizon" เพื่อให้ข้อมูลแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยสู่บริบทใหม่แห่งการลงทุน แก่ผู้ลงทุนสถาบันกว่า 200 ราย จาก 96 สถาบันทั่วโลก

Thairath Money สรุปทิศทางการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวไทยไปสู่ New S-Curve ใหม่ ภายใต้หัวข้อการบรรยาย The Next S-Curve of Thai tourism มีรายละเอียดดังนี้

ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า ในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก 25 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน

ส่วนประเด็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้น ด้านอุปสงค์ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด แต่หากมองในด้านอุปทานจะพบว่ายังมีปัญหาในด้านความยั่งยืนและคุณภาพของสถานที่และการให้บริการซึ่งต้องพัฒนาขึ้นในอนาคต

ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวมักหาแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จากผลสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 38% เพื่อที่จะท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ 70% ของนักท่องเที่ยวเลือกที่จะเสียสละความสะดวกสบายเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีของเอเชียและประเทศไทยที่จะหันมาดึงดูดนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มากกว่าการเน้นปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมาก แต่มียอดการใช้จ่ายน้อย

อีกความท้าทายที่รัฐบาลต้องให้สำคัญคือ ความไม่เท่าเทียมในการกระจายรายได้ที่เกิดขึ้นในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลจะต้องพยายามสร้างต้นแบบ หรือนำต้นแบบที่ประสบความสำเร็จมาแนะนำให้จังหวัดต่างๆ ได้ปฏิบัติตาม เพื่อกระจายรายได้ไปสู่จังหวัดต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก


ด้านนางลัชชิดา อาภาพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายงานยุทธศาสตร์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาการท่าอากาศยานฯ มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเป็นด่านหน้าต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันการท่าอากาศยานฯ รับผิดชอบทั้งหมด 6 สนามบิน และคาดว่าหลังจากนี้อีก 2-3 ปี แต่ละสนามบินจะต้องรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

การท่าอากาศยานฯ จึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขยายพื้นที่อาคารผู้โดยสาร และพัฒนาส่วนงานต่างเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

โดยสนามบินสุวรรณภูมิที่ขณะนี้รองรับผู้โดยสารประมาณ 60 ล้านคนต่อปี มีโครงการขยายอาคารผู้โดยสารและรันเวย์ และหลังจากนี้สนามบินดอนเมืองก็จะมีโครงการขยายเช่นกัน ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จใน 4-5 ปีหลังจากนี้ ซึ่งจะทำให้สนามบินดอนเมืองรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นจากปีละ 30 ล้านคน เป็นปีละ 40-45 ล้านคน

แม้ว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรป ทวีปอเมริกา และตะวันออกกลางเป็นจำนวนมาก แต่นักท่องเที่ยวในช่วง off-peak ยังถือว่าไม่เยอะเท่าที่ควร ทำให้ภาคการท่องเที่ยวควรเร่งเฟ้นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าสนใจเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น

ในแง่ของความท้าทายที่ภาคการท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเด็น

1.นโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐ โดยผู้กำหนดนโยบายและผู้นำนโยบายไปปฏิบัติจะต้องสื่อสารกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความสนับสนุนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อขยายสนามบินไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั้งในด้านการเงิน ที่ดิน สิ่งแวดล้อม รวมถึงความร่วมมือจากชุมชน เพื่อให้จำนวนสนามบินครอบคลุมการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ

2.การพัฒนาการเดินทางระหว่างสนามบินหรือการเดินทางจากสนามบินไปสู่เส้นทางการท่องเที่ยวต่างๆ จะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้ง่ายขึ้น

3.จำนวนโควตาการให้วีซ่าเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่เพียงพอ โดยเสนอแนะให้รัฐบาลไทยทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ในการเพิ่มโควตาให้นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้น

4.การทำ Data analytic แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรต่างๆ เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาแผนรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม และตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

อีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้าง New S-Curve ให้ภาคการท่องเที่ยวไทย คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ให้ความเห็นว่า เวลเนสเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากคนมีแนวโน้มเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) มากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ

ธุรกิจเวลเนสมีมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 171 ล้านล้านบาท) ในปี 2562 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 10% ในปี 2563-2568 ทำให้ธุรกิจเวลเนสไม่ได้จำกัดแค่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังขยายไปถึงการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โรงแรมเวลเนส เวชศาสตร์ชะลอวัย การดูแลสุขภาพจิต การล้างพิษความเครียด การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ และการตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน ซึ่งประเทศไทยถือว่าอยู่ในกลุ่มต้นๆ ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่รองรับนักท่องเที่ยวประมาณ 12.5 ล้านคนต่อปี ก่อนเหตุการณ์โควิด

โดยนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีการใช้จ่ายประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อคน (ประมาณ 70,120 บาท) และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในปี 2567 มีคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะเติบโตกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 35 ล้านล้านบาท)

สำหรับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่น่าจับตามองหลังจากนี้ ได้แก่

1.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เน้นความยั่งยืน
2.โปรแกรมเวลเนสที่ผสานรวมกับกิจกรรมท่องเที่ยวอื่นๆ
3.อาหารและสมุนไพรท้องถิ่นที่มีสรรพคุณทางยา
4.โปรแกรมเวลเนสที่อ้างอิงผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ :https://www.thairath.co.th/money/economics 
เศรษฐกิจในประเทศ :https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก :https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์