รับอุตสาหกรรมการบินโต บวท.ทุ่มงบวางระบบจราจรอากาศไทยใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รับอุตสาหกรรมการบินโต บวท.ทุ่มงบวางระบบจราจรอากาศไทยใหม่

Date Time: 18 ส.ค. 2566 06:36 น.

Summary

  • “วิทยุการบินฯ” ทุ่ม 4.2 พันล้าน วางระบบจราจรทางอากาศรองรับ 39 สนามบินทั่วไทย เดินหน้าติดตั้งระบบ Backup–สร้างหอบังคับการบิน รับ 2 ล้านไฟลท์บิน–ผู้โดยสาร 50 ล้านคน

Latest

5 วิชา “การเงิน การลงทุน” ต้องรู้! เป็นหนี้อย่างไร? ให้มี “เงินเก็บ” เกษียณแบบมีรายได้

“วิทยุการบินฯ” ทุ่ม 4.2 พันล้าน วางระบบจราจรทางอากาศรองรับ 39 สนามบินทั่วไทย เดินหน้าติดตั้งระบบ Backup–สร้างหอบังคับการบิน รับ 2 ล้านไฟลท์บิน–ผู้โดยสาร 50 ล้านคน ในปี 80 พร้อมเร่งเจรจา 3 ประเทศ “ไทย–สปป.ลาว–จีน” เพิ่มความจุเส้นทางบิน 2 เท่า ดันรายได้เพิ่มปีละ 6,000 ล้านบาท หวังดันไทยติด Top 3 ฮับการบินในเอเชีย

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า บวท. เตรียมทุ่มงบประมาณ 4,200 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการวางระบบการบริหารจัดการจราจรทางอากาศใหม่ ตั้งแต่ปี 2567-2570 ในสนามบินของประเทศไทยรวมกว่า 39 แห่ง ให้สอดรับกับภารกิจสำคัญของ บวท.ในการรองรับปริมาณเที่ยวบินจากในปัจจุบัน 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี ขึ้นเป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ในปี 2580

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย 1.การวางระบบสำรองข้อมูล (Backup) พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ วงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2567 ก่อนจะเริ่มออกแบบ ก่อสร้าง โดยจะแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะรองรับเที่ยวบินกว่า 1.5 ล้านเที่ยวบินต่อปี และ 2.การก่อสร้างหอบังคับการบินท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงิน 1,200 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570 รองรับผู้โดยสารได้ 2 ล้านคนต่อปี และเพิ่มเป็น 50 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2580

นายณพศิษฏ์ กล่าวต่อว่า บวท.อยู่ระหว่างหารือร่วม 3 ประเทศ คือ ไทย สปป.ลาว และจีน เพื่อขยายความจุ (Capacity) เส้นทางการบินบนน่านฟ้าระหว่างไทย-จีน เป็น 2 เท่า จากเดิมที่สามารถรองรับเที่ยวบินในเส้นทางนี้ 200,000-300,000 เที่ยวบินต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 600,000 เที่ยวบินต่อปี อีกทั้งยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับ บวท. จากที่ในปี 2562 มีรายได้ในเส้นทางไทย-จีน ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท เพิ่มเป็นปีละ 6,000 ล้านบาท

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ บวท.จะต้องเจรจาร่วมกับทหาร เพื่อพิจารณาด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับแนวทางของแต่ละประเทศ พร้อมทั้งหารือ 3 ฝ่ายถึงเรื่องการลงทุนว่า จะร่วมลงทุนกันอย่างไรบ้าง เนื่องจากจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เรดาร์การบิน ฯลฯ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่มทยอยดำเนินการในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการรองรับปริมาณเที่ยวบินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่เป้าหมายของ บวท. ก้าวเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือติด 1 ใน 3 ของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง

นายณพศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน บวท. ยังได้ดำเนินการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่ หรือที่เรียกว่าโครงการ Metroplex ซึ่งจะจัดทำเส้นทางบินเพื่อเชื่อมต่อ และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา, กลุ่มที่ 2 เชียงใหม่ แม่ฟ้าหลวงเชียงราย บ้านธิ ลำปาง และกลุ่มที่ 3 ภูเก็ต พังงา กระบี่

นอกจากนั้น บวท.จะดำเนินการควบรวมห้วงอากาศ คำนวณเส้นทางบินที่เหมาะสม ลดจุดตัดทางการบิน เพื่อให้ทำการบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งการพัฒนาระบบอุปกรณ์และเทคโนโลยี รวมถึงการออกแบบเส้นทางบินและห้วงอากาศใหม่ จะทำให้สามารถรองรับการเติบโตได้เป็นอย่างดี สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ