นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2566 อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 377 ราย เพิ่มขึ้น 17% เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,950 ล้านบาท ลดลง 20% จ้างงานคนไทย 3,594 คน เพิ่มขึ้น 9% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 84 ราย เงินลงทุน 19,893 ล้านบาท สหรัฐฯ 67 ราย เงินลงทุน 3,044 ล้านบาท สิงคโปร์ 61 ราย เงินลงทุน 12,925 ล้านบาท จีน 28 ราย เงินลงทุน 11,663 ล้านบาท และเยอรมนี 16 ราย เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่คนไทย เช่น การควบคุมแรงดันหลุมขุดเจาะปิโตรเลียม เทคนิคขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการอัดฉีดซีเมนต์ในหลุมแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม เป็นต้น โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย, บริการบำรุงรักษาหลุมขุดเจาะปิโตรเลียมบนชายฝั่ง บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน เป็นต้น
ส่วนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในช่วง 7 เดือน มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุน 73 ราย คิดเป็น 19% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุน 12,348 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย เงินลงทุน 5,379 ล้านบาท จีน 12 ราย ลงทุน 893 ล้านบาท เกาหลีใต้ 5 ราย ลงทุน 287 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ อีก 25 ราย ลงทุน 5,789 ล้านบาท.