แนะรัฐบาลใหม่แก้ค่าไฟแพง ส.อ.ท.ร่ายยาวจี้ปรับโครงสร้างระบบไฟฟ้า

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แนะรัฐบาลใหม่แก้ค่าไฟแพง ส.อ.ท.ร่ายยาวจี้ปรับโครงสร้างระบบไฟฟ้า

Date Time: 16 ส.ค. 2566 08:06 น.

Summary

  • นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกำลังติดตามการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยคาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีความกล้าหาญ มีความจริงใจ ในการแก้ปัญหาโครงสร้างค่าไฟฟ้า

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนกำลังติดตามการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยคาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีความกล้าหาญ มีความจริงใจ ในการแก้ปัญหาโครงสร้างค่าไฟฟ้า “รัฐบาลจะต้องไม่ทำให้ปัญหาค่าไฟฟ้าเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ใดๆ และเห็นว่าทางออกของค่าไฟฟ้า จะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุและปรับโครงสร้างทั้งระบบเพื่อประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยต้องแก้ไขทั้งระยะเร่งด่วน กลางและยาว”

โดยในระยะแรกจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ได้แก่ 1. การปรับหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วย เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาล มีระยะเวลาที่เหมาะสมเช่น 5 ปี 2.การแก้ไขปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้า (Supply) ที่เกินกับความต้องการบริโภคในประเทศ เช่น แก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า (AP) โดยเร่งเจรจาลดมาร์จิ้น (Margin) หรือกำไร รวมถึงควรยืดเวลาของสัญญาเดิม ควบคู่ไปกับการไม่เร่งเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ๆ เข้ามาในระบบ 3.ส่งเสริมและปลดล็อกการเข้าถึงพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม 4.การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (NG) เช่น การลดมาร์จิ้น NG ที่ขาย SPP (ผู้ผลิตไฟรายเล็ก) ให้ใกล้เคียงขาย IPP (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่), ปรับปรุงสูตรราคา NG ที่ขายให้กลุ่มปิโตรเคมี เป็นราคาเดียวกับขายโรงไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) หรือ Long term vs Spot

ส่วนระยะกลาง และยาว 1.รัฐบาลต้องเร่งเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (OCA) 2.การเปิดให้บุคคลที่สาม (TPA) ในระบบสายส่งไฟฟ้า และท่อก๊าซธรรมชาติ ส่งเสริมการแข่งขันเสรี ลดการผูกขาด 3.ปรับกลไกการบริหารพลังงาน และค่าไฟฟ้าให้โปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลค่าไฟฟ้า ไม่มีการผลักภาระมาให้ประชาชน และจัดตั้งเวทีคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.) พลังงาน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ