การเมืองวุ่น! ฉุดเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่ง นักธุรกิจจี้เร่งตั้งรัฐบาลฟื้นเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

การเมืองวุ่น! ฉุดเชื่อมั่นผู้บริโภคดิ่ง นักธุรกิจจี้เร่งตั้งรัฐบาลฟื้นเศรษฐกิจ

Date Time: 12 ส.ค. 2566 06:38 น.

Summary

  • ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมือง อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจความเชื่อมั่น ของผู้บริโภค (ภาคประชาชน) และความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (ภาคธุรกิจ) เดือน ก.ค.66 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล และเสถียรภาพทางการเมือง อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการเดือน ก.ค. ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14-15 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ลดลงจากระดับ 56.7 เดือน มิ.ย. เป็น 55.6 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน ลดลงจาก 41.6 เป็น 40.7 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต ลดลงจากระดับ 63.9 เป็น 62.8 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 50.3 ลดจาก 51.2 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 52.7 ลดจาก 53.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 63.9 ลดจาก 65.1

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (ภาคธุรกิจ) เดือน ก.ค. ขยับขึ้นเล็กน้อย 0.3-0.4 จุด แต่เป็นอัตราลดลงจากเดือน มิ.ย.ที่ขยับขึ้นเกิน 1 จุด สะท้อนความกังวลในปัจจัยต่างๆ เช่นเดียวกับภาคประชาชน โดยความเชื่อมั่นหอการค้าไทยโดยรวม จาก 54 เป็น 54.2 ความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในปัจจุบันจาก 56.5 เป็น 56.9 ความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตจาก 55.2 เป็น 55.6 โดยนักธุรกิจเรียกร้องให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และพร้อมในการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาของประเทศ, สนับสนุนการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการแก้ปัญหาหนี้ โดยเฉพาะการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม , การดูแลต้นทุนภาคการผลิตที่ปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนเสียโอกาสทางการค้า

“ในช่วงการเมืองยังไม่ชัดเจน กดดันความเชื่อมั่นให้กลับมาหดตัว โดยเฉพาะความเห็นต่อภาวะการเมืองเดือน ก.ค. หดตัวลงถึง 5 จุด และดัชนีการเมืองในอนาคต หดตัว 4 จุด ถือว่าปรับลงเร็วและแรงที่ไม่ได้เกิดได้บ่อยนัก จึงเป็นปัจจัยแรกที่มีผลต่อความเชื่อมั่นลดต่ำลง แต่ขณะนี้มีความชัดเจนในระดับหนึ่งต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งหากโหวตผ่านได้ในเดือน ส.ค.นี้ เข้าโหมดจัดตั้งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ภายใน ก.ย. จากนั้นก็เปิดสภาแถลงนโยบายและเร่งอนุมัติงบประมาณให้ปริมาณเงินออกมาได้ในเดือน มี.ค.-เม.ย. และเคาะมาตรการเร่งด่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีนี้ ความเชื่อมั่นก็จะกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง และส่งผลจีดีพีไทยขยายตัว 3-3.5%”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ