การบินไทยคุยลั่นทุ่ง! ครึ่งปี 66 กวาดกำไร 14,795 ล้านบาท โต 329% ทำสถิติกำไรต่อเนื่อง 4 ไตรมาสรวด กำเงินสดในมือกว่า 51,153 ล้านบาท สูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สะสมไว้จ่ายเจ้าหนี้กลางปี 67 ลอตแรกหมื่นล้าน ส่วนไตรมาส 2 ปี 66 ทุบสถิติทำกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท เพิ่ม 171% สูงสุดในรอบ 20 ปี มั่นใจครึ่งปีหลังกำไรทะลัก พร้อมเดินหน้าลุย 5 เรื่อง เร่งนำฝูงบินเช่าใหม่และของไทยสมายล์ เปิดเส้นทางบินใหม่ทั่วไทย ทั่วโลก
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทย และบริษัทย่อย มีผลการดำเนินงาน 6 เดือน ครึ่งปีแรก 2566 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2565 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานสูงถึง 21,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 584% และมีกำไรสุทธิ 14,795ล้านบาท เพิ่มขึ้น 329% ต่อเนื่องกัน 4 ไตรมาส และมี “กระแสเงินสด” สิ้นงวด 6 เดือน เมื่อมิถุนายน 2566 รวมทั้งหมด 51,153 ล้านบาท สูงกว่าสถานการณ์ปกติจะมีกระแสเงินสดเพียง 20,000-25,000 ล้านบาท ถึงแม้ขณะนี้จะมีเงินสดสะสมอยู่ในมือจำนวนมากแต่ก็ยังไม่ได้ทยอยจ่ายคืนให้เจ้าหนี้ ตามแผนจะเริ่มจ่ายหนี้ให้แต่ละรายได้ใกล้เคียงกันประมาณกลางปี 2567 วงเงินชำระหนี้ลอตแรก 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน การบินไทย และบริษัทย่อย ทำรายได้รวม ครึ่งปีแรก 2566 ได้แล้ว 78,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% แต่ในส่วนผู้ถือหุ้นยังคงติดลบ 56,253 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานของการบินไทย และบริษัทย่อย เฉพาะไตรมาส 2 ปี 2566 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2565 มีกำไรจากการดำเนินงาน 8,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 760% มีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171% สูงที่สุดในรอบ 20 ปี เนื่องจากตามปกติจะเป็นช่วงนอกฤดูเดินทาง (low season) ที่ผ่านมาจะทำกำไรได้น้อยกว่านี้มาก และมีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% ส่วนผู้ถือหุ้น ติดลบ 56,253 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานภาพรวมตลอดครึ่งปีแรก และเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2566 สะท้อนถึงแผนพัฒนารายได้สะสมทำได้ดีขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง เป็นไปด้วยดีแน่นอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงศักยภาพของการบินไทยสามารถทำได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งสัญญาณที่จะทำให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้นประมาณ1 ไตรมาส คือในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 จากเดิมตั้งไว้ไตรมาส 4 ปี 2567
นายชาย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ การบินไทยจะดำเนินการใน 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย เรื่องที่ 1การบริหารความเสี่ยง ทั้งการเงินและการบริหารจัดการน้ำมันเครื่องบิน แม้ว่า ตอนนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนปรับขึ้นลงก็มีผลกับทุกสายการบินเหมือนกันหมด แต่ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่กระทบการบินไทยมากนัก เรื่องที่ 2 การบริหารฝูงบินใหม่ ซึ่งตามแผนได้เช่าเครื่องบิน 3 แบบ ได้แก่ แอร์บัส A350 จำนวน 11 ลำ A321-Neo จำนวน 12 ลำ จะรับเข้าฝูงครบ ปี 2569 และ โบอิ้ง B787-9 อีก 1 ลำ ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีปริมาณการผลิตที่นั่งเพิ่มขึ้น 30% ผนวกเข้ากับการนำเครื่องบินของไทยสมายล์ซึ่งกำลังจะครบสัญญาเช่าจากการบินไทยมาใช้งานอีก 10 ลำ
เรื่องที่ 3 แผนควบรวมไทยสมายล์ ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยโอนเครื่องบินมาแล้ว 4 ลำ ยังเหลืออีก 16ลำ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานทั้งการโอนฝูงบิน ลูกเรือ รวมถึงโอนจุดบินไทยสมายล์มายังการบินไทย โดยระยะแรกจะเน้นเส้นทางบินในกลุ่มประเทศ CLMV ย่างกุ้ง เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว เพื่อรองรับผู้โดยสารตลาดยุโรป เรื่องที่ 4 วางแผนตลาดการขายของการบินไทย
เรื่องที่ 5 แผนเพิ่มเส้นทางบินใหม่ โดยช่วงที่ผ่านมาการบินไทยมองโอกาสจากตลาดจีน แต่จนถึงขณะนี้การเติบโตยังไม่ได้เป็นตามเป้าหมายเปิดเที่ยวบินได้ประมาณ 40-50% ไปยังเมืองใหญ่ ปักกิ่ง กวางโจว วันละ 1 เที่ยว/เมือง หรือ บินทุกวัน แต่จะยังไม่บินเพิ่มเป็นวันละ 2 เที่ยว/เมือง เพราะจะต้องรอดูสถานการณ์ปี 2567 อีกครั้งขณะที่เส้นทางบินสู่ญี่ปุ่น การบินไทยเพิ่งจะเพิ่มเที่ยวบินตรงสู่ฮอกไกโด เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ และไต้หวัน ก็จะเปิดบินในลักษณะเดียวกัน
นอกจากนั้น ตั้งแต่กลางปี 2567 เป็นต้นไป การบินไทยจะเพิ่มเที่ยวบินสู่ตลาดยุโรป ซึ่งปัจจุบันนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น เส้นทางบิน มิลาน (อิตาลี) ออสโล (นอร์เวย์) โดยวางแผนนำเครื่องบินซึ่งเดิมวางแผนจะใช้ในตลาดจีนเปลี่ยนมาบินในเส้นทางยุโรปแทน ซึ่งจากการดำเนินงานทำให้การบินไทยตั้งเป้าหมายว่าทั้งปี 2566 การบินไทยจะให้บริการผู้โดยสาร 9 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 700,000 คน ซึ่งขณะนี้มีสัญญาณการเดินทางของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทุกเดือน หลังจากที่การบินไทยได้ปรับฝูงบิน รวมทั้งการนำเข้าเครื่องบินใหม่ แอร์บัส A350 รวม 16 ลำ การโอนเครื่องบินแอร์บัส A320 ของไทยสมายล์เข้าฝูงการบินไทยก็จะสามารถเพิ่มที่นั่งพร้อมขายได้มากขึ้น ทั้งเส้นทางบินในประเทศ และระหว่างประเทศ.