“ข้าวเจ้า” ราคาพุ่งทะลัก ตั้งวอร์รูมฝ่าวิกฤติเอลนีโญ-ภัยแล้ง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“ข้าวเจ้า” ราคาพุ่งทะลัก ตั้งวอร์รูมฝ่าวิกฤติเอลนีโญ-ภัยแล้ง

Date Time: 8 ส.ค. 2566 06:01 น.

Summary

  • “จุรินทร์” ตั้งวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์เอลนีโญ–ภัยแล้ง คาดผลผลิตข้าวเปลือกจ่อลดลง 2 ล้านตัน ยังไม่รวมถ้าน้ำแล้งหนัก ห้ามชาวนาทำนาปรังที่ผลผลิตอาจหายไป 3–4 ล้านตัน ไทยยังไม่ถึงขั้นห้ามส่งออก ข้าวยังมีพอบริโภคในประเทศแต่ราคาพุ่ง ล่าสุดข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,000 บาท สูงสุดเป็น ประวัติศาสตร์

Latest

“พิชัย” เปิดเวทีชวนนักลงทุนเข้าไทย

“จุรินทร์” ตั้งวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์เอลนีโญ-ภัยแล้ง คาดผลผลิตข้าวเปลือกจ่อลดลง 2 ล้านตัน ยังไม่รวมถ้าน้ำแล้งหนัก ห้ามชาวนาทำนาปรังที่ผลผลิตอาจหายไป 3-4 ล้านตัน ไทยยังไม่ถึงขั้นห้ามส่งออก ข้าวยังมีพอบริโภคในประเทศแต่ราคาพุ่ง ล่าสุดข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 12,000 บาท สูงสุดเป็น ประวัติศาสตร์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทูตพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ และภาคเอกชน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบจัดตั้งวอร์รูมติดตามผลกระทบจากภัยแล้ง และเอลนีโญจากทั่วโลก ที่จะมีต่อผลผลิต ราคา และการตลาดของข้าว รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นของไทยอย่างใกล้ชิด โดยมีปลัด กระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และยังให้ทูตพาณิชย์ทั่วโลกติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง การผลิต ราคา พืชเกษตรทุกตัว โดยให้รายงานผลให้กระทรวงพาณิชย์ทราบทุก 1-2 สัปดาห์

ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า เดือน พ.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา สถานการณ์เอลนีโญของไทยอยู่ที่ระดับ 0.8 เทียบกับปี 59 ที่ไทยเกิดภัยแล้งรุนแรง ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.2 ส่วนปริมาณน้ำฝนปีนี้คาดจะลดลง 5% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 30 ปี และน้ำในเขื่อนจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณครึ่งหนึ่งที่จะกระทบต่อการเกษตรในเขตชลประทาน

“การตั้งวอร์รูมนี้ เพื่อดูแลสถานการณ์ข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อหาจุดสมดุล เพราะใน ขณะที่ราคาข้าวเปลือกสูงขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์มากขึ้น จะทำให้ราคาข้าวสารเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าแพงเกินไป ผู้บริโภคจะเดือดร้อนก็ต้องกำกับให้อยู่ในจุดสมดุล ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ยืนยันว่า ไทยยังมีข้าวเพียงพอ ยังไม่ต้องห้ามส่งออก”

สำหรับผลกระทบจากกรณีที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และเกิดความผันผวน แต่ยังมีผลดีที่อาจทำให้ไทยขายข้าวได้มาก และราคาดีกว่าเดิม แต่ผลเสียจะกระทบต่อราคาอาหารคนและอาหารสัตว์ โดยราคาข้าวเปลือกล่าสุด ณ วันที่ 4 ส.ค. เพิ่มขึ้นทุกตัว ทั้ง ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 14,500-16,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 12,000-13,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 11,000-12,000 บาท สูงสุด เป็นประวัติศาสตร์ แต่ราคาข้าวสารบรรจุถุงยังปกติ โดยข้าวหอมมะลิ ถุง 5 กิโลกรัม (กก.) เฉลี่ยปีที่ผ่านมา ถุงละ 209 บาท ขณะนี้ถุงละ 210 บาท ข้าวขาว 5 กก. ปีที่ผ่านมา ถุงละ 119 บาท ปีนี้ 118 บาท

“ผลผลิตข้าวเปลือก ปีนี้ลดลง 2 ล้านตันข้าวเปลือก เพราะภัยแล้ง หรือ 5.6% เหลือ 32.35 ล้านตัน จากปีที่ผ่านมาที่มี 34.3 ล้านตัน ยังไม่นับรวมผลผลิตที่อาจหายไปอีก 3-4 ล้านตันข้าวเปลือก หากน้ำนอกเขตชลประทานไม่เพียงพอเพราะปลูกข้าวนาปรัง จนต้องขอความร่วมมือชาวนาลดการปลูก หรือสั่งห้ามปลูก แต่ต้องรอดูปริมาณน้ำฝนว่า มีน้ำเข้ามาเติมในเขื่อนหรือไม่ และมีมากน้อยเพียงใด”

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของชาวนา เพราะขณะนี้ข้าวเปลือกเจ้าเกี่ยวสดอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนราคาตลาดโลก เฉพาะข้าวขาวขึ้นมาเป็นตันละ 100 เหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 20-30% นับตั้งแต่อินเดียห้ามส่งออก ส่วนการส่งออกข้าวไทย 7 เดือน ส่งออกได้ 4.8 ล้านตัน โดยแต่ละเดือนเฉลี่ยส่งออกได้ 700,000-800,000 ตัน คาดว่า 5 เดือนที่เหลือส่งออกจะส่งออกได้ระดับเดียวกัน จะเกิน 8 ล้านตัน นำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม 20-30%.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ