นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีสถาบันการเงินของรัฐ ต้องตั้งสำรองเพิ่มตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.68 นั้น อาจกระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินของรัฐขนาดเล็ก และมีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระดับสูงได้ หากจะผ่อนปรนเงื่อนไข TFRS 9 ต้องหารือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น สถาบันการเงินของรัฐที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการตั้งสำรองเพิ่มมากนัก เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพราะผลประกอบการดี มีกำไรสูง
ขณะที่ธนาคารอิสลาม และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีขนาดเล็ก และมีแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น จึงอาจมีปัญหาได้ แต่สามารถใช้เงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) มาช่วยเหลือได้ แต่ต้องขึ้นกับการหารือผ่อนปรนหลักเกณฑ์กับ ธปท. และความเปราะบางของธนาคารของรัฐว่า รองรับการเพิ่มสำรองได้เพียงใด
“สถาบันการเงินรัฐแต่ละแห่งมีปัญหาต่างกัน แบงก์ใหญ่ไม่มีปัญหา เพราะผลประกอบการดี มีกำไร มีรายได้ส่งรัฐ แต่ถ้าแบงก์รัฐมีปัญหาจริงๆ กองทุน SFIF ช่วยเหลือได้ ไม่น่ามีปัญหา เพราะรัฐถือหุ้น 100% อยู่แล้ว”
ด้านนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสินในฐานะประธานสมาคมสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐกล่าวว่า ในกรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ บางแห่งจำเป็นต้องกันสำรองเพิ่ม ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ดังกล่าว แนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือการลดต้นทุนหรือตัดทุนของธนาคาร เพื่อนำเงินทุนไปเป็นสำรองเพิ่มขึ้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ส่วนธนาคารออมสิน ไม่มีปัญหาเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชีใหม่ เพราะได้เตรียมพร้อมและตั้งสำรองเพิ่มมาตลอด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากกระทรวงการคลังจะให้ธนาคารของรัฐ ชะลอการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ไปจนถึงปี 68 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ต้องหาแนวทางที่เหมาะสมในการช่วยเหลือธนาคารรัฐที่มีภารกิจช่วยเหลือกลุ่มคนที่อาจเข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ตามปกติได้ยาก เพราะมาตรฐานบัญชีใหม่ ทำให้การปล่อยสินเชื่อเพื่อสังคมทำได้ยากขึ้น.