หวั่นไทยหลุดห่วงโซ่ผลิต แนะปรับตัวเศรษฐกิจสีเขียวรับเทรนด์โลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

หวั่นไทยหลุดห่วงโซ่ผลิต แนะปรับตัวเศรษฐกิจสีเขียวรับเทรนด์โลก

Date Time: 31 ก.ค. 2566 06:10 น.

Summary

  • “ท๊อป จิรายุส” แนะประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวไปสู่ “เศรษฐกิจ ดิจิทัลสีเขียว” ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกตัดขาดออกจากจีดีพีโลก อยากเห็น รัฐบาลใหม่ยกระดับกระทรวงดีอีเอส และกระทรวงทรัพย์ขึ้น กระทรวงเกรดเอ ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อคน ในทางเทคโนโลยีทำได้แน่นอน แต่ต้องหารือนักเศรษฐศาสตร์ในเรื่องผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

Latest

ฟื้นเฟสใหม่ “เราเที่ยวด้วยกัน” “สรวงศ์” สั่ง ททท.ชงโครงการเสนอนายกฯอิ๊งค์

“ท๊อป จิรายุส” แนะประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวไปสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัลสีเขียว” ไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อไม่ให้ประเทศไทยถูกตัดขาดออกจากจีดีพีโลก อยากเห็น รัฐบาลใหม่ยกระดับกระทรวงดีอีเอส และกระทรวงทรัพย์ขึ้น กระทรวงเกรดเอ ส่วนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อคน ในทางเทคโนโลยีทำได้แน่นอน แต่ต้องหารือนักเศรษฐศาสตร์ในเรื่องผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวในการอบรมโครงการพัฒนา ศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจถึงทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าไปเพื่อ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่ถูกตัดขาดออกจากผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของเศรษฐกิจโลกว่า จากทิศทางของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม พบว่าธุรกิจที่ จะขยายตัวได้ในช่วงต่อไปจะมี 2 ด้าน คือ ธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม (Green) ซึ่งธุรกิจนี้มีแต่ขึ้นอย่างเดียว และธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งธุรกิจนี้มีทั้งสองอย่างทั้งส่วนที่ขึ้นต่อและลง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของโลกที่จะเป็น Digital Green Revolution หรือการปฏิวัติไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลสีเขียว ขณะที่ธุรกิจดั้งเดิมที่มีอยู่ในขณะนี้จะอยู่ในทิศทางขาลง

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากจีดีพีของไทยจะพบว่า เราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ค่อนข้างมากถึง 44% ของจีดีพี หากเราไม่เร่งที่จะปรับตัวไปกับเทรนด์ของโลกดังกล่าว ทั้งในส่วนภาคอุตสาห กรรม บริษัทเอกชน และแม้แต่ภาคการเกษตร นอกจากนั้น จะยังมีผลต่อเนื่องถึงการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศในระยะต่อไป เพราะในขณะนี้กองทุนขนาดใหญ่ของโลก รวมทั้งบริษัทชั้นนำของโลก จะได้รับแรงกดดันจากมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ เรื่องการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ทำให้ต้องลงทุนในบริษัทสีเขียว และรับซื้อสินค้า และวัตถุดิบจากบริษัทสีเขียว

นอกจากนั้น มีแรงกดดันจากภาคธนาคารที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีเขียว และที่สำคัญคือ ประเทศใหญ่อย่างจีน กำลังเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน ไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียวแล้ว ขณะที่ มีความร่วมมือในเรื่องการลดโลกร้อนกับสหรัฐฯ และฝรั่งเศส ทำให้ธุรกิจของไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจำเป็นต้องปรับตัวตามอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่เป็นห่วงขณะนี้คือ บริษัทของไทยจะต้องเร่งปรับตัวไปสู่กระบวนการผลิตสีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่เป็นสีเขียว ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อไม่ให้หายไปจากห่วงโซ่การผลิต และจีดีพีของโลก เช่น การผลิตปูนซีเมนต์สีเขียว เสื้อผ้า ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือผลิตภัณฑ์โปรตีนใหม่จากแมลง และที่ผมเป็นห่วงมากคือ เอสเอ็มอีของไทยที่จะต้องเร่งปรับตัวให้ทันเวลาได้อย่างไร ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจะต้องเป็นรัฐบาลที่เข้าใจในเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ และในความสำคัญในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง โดยมองว่ากระทรวงจะต้องเป็นกระทรวงเกรดเอ จะต้องเปลี่ยนคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ผลักดันการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจ รวมทั้งเศรษฐกิจสีเขียว”

ต่อข้อถามที่ว่า หากมีการนำโครงการแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยคนละ 10,000 บาท เพื่อกระตุ้น เศรษฐกิจในระยะต่อไป จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ นายจิรายุส กล่าวว่า หากตอบด้านเทคโนโลยีนั้น สามารถที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว และในอนาคต เชื่อว่าการใช้เงินในทุกประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่ระบบ ดิจิทัล และการใช้ระบบโทเคนมากขึ้น เพราะการพิมพ์ธนบัตรถือเป็นกรณีหนึ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกประเทศเข้าสู่เงินดิจิทัลอยู่แล้ว แต่ต้องพิจารณา ในด้านเศรษฐศาสตร์ด้วยว่า เงินในโครงการจะนำมา จากไหน และหากมีการปล่อยเงินใหม่เข้าไปในระบบ จะสร้างเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และกระทบต่อนโยบายการเงิน และภาวะดอกเบี้ยของไทยหรือไม่ ซึ่งจุดนี้คงต้องหาจุดสมดุลที่จะนำมาใช้ให้ได้มากที่สุด โดยคงต้องปรึกษา นักเศรษฐศาสตร์ให้ชัดเจนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ