ซีอีโอกลัวจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า การเมืองขัดแย้งถล่มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ซีอีโอกลัวจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า การเมืองขัดแย้งถล่มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

Date Time: 28 ก.ค. 2566 05:30 น.

Summary

  • ส.อ.ท.เปิดโพลซีอีโอ (CEO Survey) ส่วนใหญ่เห็นความล่าช้าตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองจะกระทบเศรษฐกิจ ไทยครึ่งปีหลัง ทั้งภาคเอกชนชะลอลงทุน ความเชื่อมั่นต่างชาติหด และหากมีชุมนุมประท้วงรุนแรงจะกระทบท่องเที่ยว

Latest

ที่ยืนของ “ธุรกิจไทย” แคบลงทุกที ไทยขาดดุล “จีน” สูงขึ้นเรื่อยๆ นำเข้าสินค้า ผ่าน Shopee - Lazada

ส.อ.ท.เปิดโพลซีอีโอ (CEO Survey) ส่วนใหญ่เห็นความล่าช้าตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองจะกระทบเศรษฐกิจ ไทยครึ่งปีหลัง ทั้งภาคเอกชนชะลอลงทุน ความเชื่อมั่นต่างชาติหด และหากมีชุมนุมประท้วงรุนแรงจะกระทบท่องเที่ยว เครื่องยนต์ เดียวที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้าน สศอ.เล็งปรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ทั้งปีอยู่ในแดนลบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจ ส.อ.ท.โพล (FTI Poll) ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นกังวลที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง 2566” โดยพบว่า ซีอีโอ หรือผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ต่างเห็นว่าความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้งจนถึงขณะนี้ เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 6 เดือนสุดท้ายของปีและส่งผลให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ และหากการชุมนุมประท้วงทวีความรุนแรงมากขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวไทย ที่เป็นเพียงเครื่องยนต์เดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“ปัจจัยภายนอกที่ภาคเอกชนกังวลเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเงินเฟ้อและดอกเบี้ย ที่หลายๆประเทศปรับตัวสูงขึ้นและทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมไปถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจทวีความรุนแรงที่จะกระทบต่อราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยภายในที่กังวลมากสุดคือความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง รองลงมาคือต้นทุนการผลิตทั้งค่าไฟฟ้า น้ำมัน วัตถุดิบ ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึง กำลังซื้อที่ลดลงจากหนี้ครัวเรือนเพิ่ม”

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท.จำนวน 258 คน ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ประเมินถึงแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเทียบกับครึ่งปีแรกของปีนี้พบว่า ยังคงทรงตัวจากต้นปีที่ผ่านมา จากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไทย “ผู้บริหาร ส.อ.ท.คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบในทุกระดับ โดยเฉพาะวิธีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มการเติบโต ทางเศรษฐกิจ (GDP growth) เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเอสเอ็มอีและหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ลดภาระผู้ประกอบการรายเล็ก”

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 92.53 ลดลง 5.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 59.12% ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรม 6 เดือนแรกปีนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 95.73 ลดลง 4.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 60.72% เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังชะลอตัวจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอ่อนแอ

“สศอ.ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปีนี้ว่า จะมีการขยายตัว 0-1% จากปีก่อนหน้า ซึ่งก็คงต้องทบทวน เป็นในโซนติดลบเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับผลกระทบการเมือง ที่ส่งผลต่อนโยบายบางส่วนที่ต้องชะลอออกไปเพื่อรอรัฐบาลใหม่ จึงทำให้ขาดความต่อเนื่อง ส่วนจะติดลบเท่าใดจะประกาศเดือน ส.ค.”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ