ก่อนที่วันนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯแอชตันอโศก โดยนัยแทบไม่มีความซับซ้อน เพราะ ยืนคำสั่ง ตามศาลปกครองกลาง ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้
แต่นั่นหมายถึง ตึกสูงตั้งตะหง่าน ที่สูงสุด 50 ชั้น ที่ตั้งอยู่ใจกลางสุขุมวิท ถ.อโศกมนตรี กำลังจะถูกรื้อทุบลงหรือไม่ และ เปิดความเสียหายมหาศาล อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อสังหาฯไทย บนคำถามที่ว่า เหตุการณ์นี้ ท้ายที่สุด ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบกันแน่ ?
แอชตัน อโศก บนทำเลทองอโศก
โครงการ แอชตัน อโศก ( Ashton Asoke ) นับเป็นแบรนด์คอนโดมิเนียม ที่เป็น Segment บนสุดของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถูกเปิดตัวครั้งแรก เมื่อปี 2557 เป็นคอนโดสูง 50 ชั้น สไตล์โมเดิร์น รูปทรงแปลกตา เรียบหรู อยู่บนแยกอโศกมนตรี ด้วยมูลค่าโครงการรวมมากกว่า 6.4 พันล้านบาท รวม 783 ยูนิต ด้วยราคาเสนอขาย เริ่มต้น 210,000 บาท/ตร.ม. หรือ เกือบ 7 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงในขณะนั้น
การมาของ แอชตัน อโศก สร้างความตื่นตาให้กับวงการอสังหาฯไทยอย่างมาก ตั้งแต่ ทำเล ดีไซน์ และ Facilities (ส่วนกลาง)ภายใน เช่น มีสระว่ายน้ำระบบเกลือ ยาว 38 เมตร ห้อง Social Club ฟิตเนสหรู มองวิวกลางเมือง มีความหรูหราทันสมัยชวนอยู่อาศัย และนั่นทำให้ โครงการนี้ ได้รับการตอบรับในแง่ยอดขาย ทั้งในหมู่คนไทย คนต่างชาติ และ นักลงทุนที่มองเห็นโอกาสอย่างคึกคัก โดยใช้เวลาปิดการขายในเวลาไม่นาน
แต่ความโดดเด่นของ โครงการ แอชตัน อโศก ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง กลับอยู่ในความแพ่งเล็งขอองผู้ร้อง นักกิจกรรมคนดัง อย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและคนในชุมชนโดยรอบ ที่เปิดประเด็นว่า ถนนส่วนหน้าโครงการ แอชตัน อโศกนั้น น่าจะไม่ได้รับการอนุญาตที่ถูกตามกฎหมาย และการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการนี้ ผิดกฎกระทรวง
นับหนึ่ง คดีพิพาทที่ดิน แอชตัน อโศก
ย้อนไป อนันดา ริเริ่มจากการซื้อที่ดินดังกล่าว ขนาด 2 ไร่กว่าๆ เมื่อปลายปี 2557 ฝั่งขาออก ติด MRT สุขุมวิท ประตู 1 และสยามสมาคม ที่จะเชื่อมไปยัง BTS อโศก ไม่ไกลถึง 250 เมตร ใกล้ศูนย์การค้าดัง เทอมินัล 21 เป็นย่านทำเลทองใจกลางเมือง ที่มีมูลค่าแง่ที่ดินติดชั้นแนวหน้าของไทย
กระบวนการฟ้องร้องจากหลายมุม หลายฝ่าย ในปมข้อพิพาทเรื่องที่ดิน ซึ่งลูกบ้านที่ซื้อไปไม่เคยรับรู้ แดงเกิดเป็นคดีความขึ้น เมื่อ นายศรีสุวรรณ และชาวบ้านในละแวกดังกล่าว รวมตัวกัน ฟ้องร้อง โดยใช้ข้อเท็จจริงที่ว่า เดิมที่ดินผืนนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เวนคืนมาจากเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งอ้าง จะนำไปใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยแปลงที่ดินบางส่วน ที่ติดถนนอโศกมนตรี จริงอยู่ รฟม.ได้นำมาสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
แต่บางส่วน ไฉนกลับกลาย เป็นทางเข้า-ออก ให้กับโครงการแอชตันอโศก ซึ่งภูมิหลัง ก็มาจากที่ระหว่างก่อสร้าง อนันดา ได้ทำสัญญากับ รฟม.เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยการสร้าง 'อาคารจอดรถ' มูลค่าประมาณ 97 ล้านบาท ขอแลกกับการขอใช้ที่ดิน ของรฟม. ขนาดราว 6.60 เมตร เนื่องจากที่ดินแปลงนี้ มีส่วนที่ติดถนนสาธารณะ เพียง 6.40 เมตรเท่านั้น ไม่ครบ 12 เมตร ตามข้อบังคับสร้างอาคารสูง เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก
ซึ่งนายศรีสุรรณ ชี้ นี่เท่ากับ อนันดา หาทางหลบหลีก ข้อบังคับ การพัฒนาอาคารสูง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ มีการใช้ที่ดินรัฐ ไปทำประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งโยนเผือกร้อนไปยัง รฟม. ที่มีความผิด อนุญาตให้ใช้ที่ดินรัฐ ขัดต่อกฎหมาย
ระหว่างการฟ้องร้อง ต่อสู้คดี แม้ อนันดา ไม่ได้เป็นจำเลยโดยตรง เพราะเป็นการยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐเป็นหลัก ทั้ง ผอ.สำนักงานเขตวัฒนา , ผอ.สำนักการโยธา กทม. ,ผู้ว่าฯ กทม., ผู้ว่าการฯ รฟม. และ คณะกรรมการผู้ชาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นับรวมผู้ถูกฟ้องที่ 1-5
ฟ้าผ่า ศาลปกครองกลางสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดแอชตันอโศก
โครงการแอชตันอโศก ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และ เตรียมส่งมอบห้องพักให้ลูกบ้าน เกิดปัญหามากมาย โดยเฉพาะไม่ได้รับเอกสารรับรองการก่อสร้างและเปิดใช้อาคาร (อ.6) จากกรุงเทพมหานครได้ จนทำให้ จากที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าในช่วงปี 2560 ที่โครงการแล้วเสร็จ ถูกเลื่อนการส่งมอบ และเปิดให้ลูกบ้านเข้าอยู่อาศัยได้ คือ ช่วงปี 2562 แล้ว ท่ามกลาง ความไม่พอใจของลูกบ้านบางส่วน ที่ไม่มั่นใจในการอยู่อาศัย และ กังวลถึงปัญหาฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
ก่อนอนันดา ปิดจบปัญหาภายในได้ ด้วยข้อเสนอต่างๆ ใครใคร่อยู่ อยู่... ใครกังวล ก็มีทางเลือกอื่นๆให้ เช่น รับซื้อคืน เปลี่ยนไปอยู่โครงการอื่นๆในเครือของบริษัท เป็นต้น
กระทั่งแรงกระแทกรอบแรกเกิดขึ้น เมื่อ 30 ก.ค.2564 หลัง ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง "แอชตัน อโศก" เพราะพิจารณาตามคำร้อง ว่าหน่วยงานรัฐต่างๆได้ร่วมกันละเลยต่อหน้าที่ ด้วยการ อนุญาตให้อนันดา ก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ทั้งๆที่ผิด พ.ร.บ.อาคารชุด
ภายหลัง อนันดา ได้ขอให้สิทธิแทนลูกบ้าน ด้วยการขอใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด พร้อมเปิดปม ขอความเป็นธรรม ว่า แอชตัน อโศก ไม่ใช่โครงการเดียว ที่ขออนุญาตใช้พื้นที่กับรัฐลักษณะนี้ แต่มีโครงการมากกว่า 10 แห่ง ทำสัญญากับ รฟม.ในการใช้พื้นที่เช่นกัน อีกทั้ง ผู้บริหาร ชานนท์ เรืองกฤตยา ยืนยันความถูกต้องในการดำเนินโครงการฯ ตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ
ลูกบ้าน และอนันดา กระทบหนัก
ในปีเดียวกัน ปรากฎข่าว ลูกบ้านโครงการแอชตันอโศก ประสบปัญหาด้านสินเชื่อ จาก 9 สถาบันการเงิน มูลค่าเกือบ 3 พันล้านบาท เนื่องจาก บางส่วนไม่สามารถขอสินเชื่อ และ รีไฟแนนซ์ได้ เจ้าของร่วม 578 ครอบครัว ที่ได้เข้าอยู่อาศัยในโครงการฯ มากว่า 2 ปี ซึ่งรวมถึงครอบครัวชาวต่างชาติอีก 140 ครอบครัว เริ่มขยับขอความเป็นธรรม เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต่างๆ รวมถึงผลกระทบอันเนื่องมาจากระยะเวลาในการพิจารณาตามกระบวนการของศาลปกครองสูงสุดซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี ได้ ขณะที่ อนันดา ออกแคมเปญ #SaveAshtonAsoke โดยระบุ จะหาแนวทางช่วยเหลือลูกบ้านอย่างเต็มที่ พร้อมนอนยันถึงความบริสุทธิ์ในการก่อสร้างโครงการ และมั่นใจจะชนะคดี
การอุทธรณ์คดีแอชตันอโศก เรื่อยมาถึง 20 ก.ย.2565 โดยมี บมจ.อนันดา เป็นผู้ร้องสอด ปรากฎมีความเห็นส่วนตัวของ ตุลาการผู้แถลงคดี ออกมาเป็นข่าว ว่า เห็นควรให้กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) โดยให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี เนื่องจากเห็นว่า กรณี รฟม. อนุญาตให้ โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืน เพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร ให้ครบจนไปสอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร โดยที่ รฟม. ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถ ถือเป็นการดำเนินการโดยชอบ ซึ่งความเห็นดังกล่าว ดูเหมือนจะทำให้ทั้งลูกบ้านแอชตันอโศก และ อนันดา ใจชื้นขึ้นมา
ก่อน 24 พ.ย.2565 ปรากฎข่าวใหญ่อีกครั้ง อีกคดีความที่แอชตันอโศกต้องเจอ จากการร้องของ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมป์ ที่ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักโยธา กทม. และผู้อำนวยการเขตวัฒนา เนื่องจากมีการร้องว่า การก่อสร้างแอชตันอโศก ทำให้เรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็น เรือนไทยอนุรักษ์ ของสยามสมาคมฯ ได้รับความเสียหาย ว่า
โดยศาลปกครองกลางชี้ ผู้ว่าฯ กทม. ละเลยการทำหน้าที่ จากการปล่อยให้อนันดา สร้างคอนโดแอชตัน อโศก ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ทั้งนี้ เห็นแก่ความเดือดร้อนของผู้ซื้อ จึงเปิดโอกาสให้ กทม. /อนันดา และ รฟม. เร่งหาทางออกร่วมกัน ภายใต้ช่องของพรบ.ควบคุมอาคาร ใน 180 วัน หากทำไม่ได้ ก็อาจต้องสั่งรื้ออาคารที่สูงเกินกฎหมายกำหนดเช่นกัน กลายเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
เมื่อถึงทางตัน ศาลปกครองสูงสุด ยืนคำพิพากษา หรือ อาจต้องทุบ แอชตันอโศก
ขณะวันนี้ 27 กรกฎาคม 2566 จะเรียกว่าเป็นจุดจบของมหากาพย์คดีแอชตันอโศกได้หรือไม่ เมื่อศาลปกครองสูงสุด ได้มีคําพิพากษายืนตามคําพิพากษาศาลปกครองกลาง คือ ให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการแอชตันอโศก
" รฟม.ได้มาจากการเวนคืนเพื่อทำขนส่งมวลชนสาธารณะ จึงไม่อาจนํามาให้เอกชนเช่าใช้งานที่ผิดวัตถุประสงค์ของการเวนคืนได้ หน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย "
" ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น โดยให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ตามแบบ กทม.6 เลขที่ 18/2558 ลว. 23 ก.พ.2558 และเลขที่ 69/2558 ลว. 16 ก.ค.2558 และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 39 ตรี ตามแบบ ยผ.4 เลขที่ 48/2559 ลว. 22 มิ.ย.2559 ฉบับแก้ไข และเลขที่ 129/2560 ลว. 17 พ.ย.2560 ที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว"
ชี้ชัดความผิดทางกฎหมายกระชับได้ใจความ ว่า : ที่ดินของ รฟม. ไม่อาจนํามาให้บริษัทฯ หรือ เอกชนใช้ในการทําโครงการได้ จึงทําให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นเท่ากับปลายทาง คือ อาจต้องทุบรื้อโครงการดังกล่าว
ซึ่งอาจเรียกว่าได้ว่า เหตุการณ์นี้ เป็นเหตุการณ์แรกในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ไทยก็ว่าได้ ที่ศาลมีคำสั่งให้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตกับตึกก่อสร้างที่มีคนเข้าอยู่อาศัยแล้วเป็นเวลานานหลายปี ขณะเดียวกัน ก็เกิดข้อคำถามถึง ผลกระทบ ที่อาจไม่ได้หยุดแค่ที่ลูกบ้านแอชตันอโศกเท่านั้น แต่อาจเป็นผลกระทบวงกว้างที่จะมีผลต่อความเชื่อมั่นระยะยาวในวงการอสังหาฯ ไทย โดยเฉพาะ ระบบความน่าเชื่อถือของหน่วยงานราชการที่เสื่อมถอย ลุกลามเศรษฐกิจไทย
CEO อนันดา ชี้เป็นเหตุที่ไม่คาดคิด
เจาะในมุมของอนันดา มองคำพิพากษาในวันนี้อย่างไร “พิสิษฐ์ เดชไชยยาศักดิ์” นักกฎหมายธุรกิจ ของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ระบุ แม้คำพิพากษาศาลที่ออกมา ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่ตั้งข้อสังเกต ถึงความชอบธรรม
เพราะในข้อเท็จจริง ก่อนอนันดา เริ่มสร้างโครงการ ได้ทำการสำรวจที่ดิน และมีความเห็นจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าสามารถดำเนินการได้ แม้แต่ รฟม. ก็ยืนยันถึงการดำเนินการได้
โดยในคำวินิจฉัยของศาล เมื่อ รฟม.เวนคืนที่ดินมา ก็มีอำนาจในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ และ เป็นผู้ออกกฎเกณฑ์เป็นกรณีพิเศษ กฎระเบียบเหล่านี้ มีช่องอยู่ให้ดำเนินการได้ แต่จุดตายของคดี ไปติดตรงที่ พื้นที่ของโครงการ ไม่ได้ติดกับทางสาธารณะ ทำให้ความถูกต้องถูกหักล้างลง ฉะนั้นในทางกฎหมายต้องมีการเยียวยา เรียกร้องความเสียหายได้
ขณะ CEO อนันดา “ชานนท์ เรืองกฤตยา” แถลงจุดยืน และระบุว่า คำพิพากษาของศาลวันนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ว่าจะมาเดินทางมาถึงขนาดนี้ เพราะ บริษัท ยืนยันความถูกต้อง โปร่งใส ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารมาโดยตลอด
“การที่ภาครัฐ ทำบางอย่างไม่ถูกต้อง ทำให้ลูกบ้านโครงการกลายเป็นเหยื่อ จำเป็นต้องขอความเป็นธรรม และหาผู้รับผิดชอบให้ได้ เพราะขณะนี้ ไม่ใช่ลูกบ้านกระทบ แต่ผลกระทบ ลามไปถึงลูกค้าทั้งหมดของอนันดา ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และ พาร์ทเนอร์ต่างประเทศ คำถามคือ ถ้าไม่ทุบตึก จะมีช่องทางออกอื่นๆหรือไม่ อยากให้ภาครัฐ เช่น กทม. รฟม. ช่วยหาทางออก ในฐานะที่เป็นต้นเหตุ เพราะนี่ไม่ได้เป็นปัญหาแค่โครงการนี้ และกำลังเป็นประเด็นทางสังคม”
อนันดา ชี้ ลูกบ้านเป็นเหยื่อ การอนุญาตของหน่วยงานรัฐ สะเทือนอุตสาหกรรมอสังหาฯ
ส่วนมือขวา CEO “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ชี้นี่เป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมอสังหาฯไทย ที่ศาลสั่งให้ทุบตึกกับอาคารที่สร้างเสร็จแล้ว มีคนอยู่อาศัยแล้ว ย้ำผลกระทบ 580 ครัวเรือน ลูกบ้านโครงการแอชตันอโศก จาก 668 ยูนิต ที่ถือกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว ทั้งๆที่บริษัท ดำเนินการสุจริตในการพัฒนาโครงการทุกขั้นตอน แต่กลับมาเงื่อนไขปมกฎหมายภายหลังสิ่งที่กังวล คือ ความเชื่อมั่นในสายตาชาวต่างชาติ ที่มองมาถึงอสังหาฯไทย เพราะโครงการนี้ มีลูกบ้านชาวต่างชาติ ถึง 142 ราย จาก 20 ประเทศ
“ วันนี้ความเสียหายทั้งตึกกว่า 6.4 พันล้าน จากยอดขาย 87% และมีมูลค่าที่เหลือ 828 ล้าน อนันดาถืออยู่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างชาติ แต่เเราขอยืนยันความถูกต้อง จากการใบอนุญาต 9 ฉบับ 8 หน่วยงาน ผ่าน 5 คณะกรรมการ ที่เห็นชอบการก่อสร้าง “
แต่สิ่งที่คงจะต้องตั้งคำถามกันเพิ่มเติม ก็คือ กรณีที่อนันดา เผยว่า ขณะนี้ยังมีโครงการตึกสูงลักษณะนี้ ที่ขอใช้พื่นที่รฟม.คล้ายกับแอชตันอโศก ร่วม 13 โครงการ และ มีอีกนับ 100 โครงการ ที่ขอเชื่อมทางกับพื้นที่รัฐ ท้ายที่สุด จะมีทางตันเหมือนกันหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอสังหาฯแค่ไหน ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่า กรณีแอชตันอโศก ได้กลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ สะเทือนความเชื่อต่ออสังหาฯไทย และ อาจลุกลามเศรษฐกิจไทย จากความสำคัญของภาคอสังหาฯที่มีต่อGDP ท้ายที่สุด อนันดา ประกาศขอเวลา 14 วัน ในการหารือขอความชัดเจนกับ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าจะมีทางออกอื่นๆใดเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะในทางกฎหมาย ถึงทางตันแล้ว
ด้วยความเห็นว่า “บริษัท ฯ เห็นว่า ศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาท ระหว่าง หน่วยงานของรัฐ และหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ เอกชน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิ และ เสรีภาพของประชาชน รวมทั้ง เพื่อวางแนว หรือ สร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องชอบธรรม “
ศรีสุวรรณจ่อร้องผู้ว่าฯชัชชาติสั่งเอาผิดเจ้าหน้าที่ กทม.ทั้งหมดกรณีแอชตันอโศก
ขณะอัพเดท คดีแอชตันอโศก ล่าสุด นายศรีสุวรรณ ระบุว่า วันพฤหัสที่ 4 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. ตนเองจะนำความตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งถือว่าเป็นที่สุดและเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายแล้วไปยื่นร้องเรียนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบเอาผิดทางวินัย อาญา และทางแพ่งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม.ซึ่งเป็นผู้รับแจ้งทั้งหมด ตามมาตรา 39 ทวิทั้ง หมด รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเฉพาะตัวต่อไป