ยิ่งปลูกข้าวยิ่งจนหนี้ท่วมหัว ม.หอการค้า ชี้ชาวนาติดบ่วงวงจรอุบาทว์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยิ่งปลูกข้าวยิ่งจนหนี้ท่วมหัว ม.หอการค้า ชี้ชาวนาติดบ่วงวงจรอุบาทว์

Date Time: 27 ก.ค. 2566 05:30 น.

Summary

  • ม.หอการค้าไทย เผยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยติดบ่วง “วงจรอุบาทว์” ยิ่งทำนา ยิ่งมีหนี้เพิ่ม ทำชาวนาไทยจนสุดในเอเชีย และอาเซียน เหตุต้นทุนผลผลิตเพิ่ม ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เงินไม่เหลือในกระเป๋า พร้อมเผย 10 จุดอับฉุดรั้งข้าวไทย จี้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาให้ตรงจุด ยิ่งช้า ข้าวไทยยิ่งถดถอย ลั่นแทรกแซงตลาด ไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ม.หอการค้าไทย เผยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยติดบ่วง “วงจรอุบาทว์” ยิ่งทำนา ยิ่งมีหนี้เพิ่ม ทำชาวนาไทยจนสุดในเอเชีย และอาเซียน เหตุต้นทุนผลผลิตเพิ่ม ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เงินไม่เหลือในกระเป๋า พร้อมเผย 10 จุดอับฉุดรั้งข้าวไทย จี้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหาให้ตรงจุด ยิ่งช้า ข้าวไทยยิ่งถดถอย ลั่นแทรกแซงตลาด ไม่ช่วยแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการศึกษา “10 ปี ชาวนาไทย : จนเพิ่ม หนี้ท่วม” ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยอยู่ในวังวนของการแทรกแซงตลาด ทั้งการรับจำนำ และการประกันรายได้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตและการตลาดข้าวไทยไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชาวนาไทยยากจนที่สุดในเอเชีย และในอาเซียน เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา เพราะมีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงมาก แต่ศักยภาพการผลิตต่ำที่สุด ผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุด รายได้ต่ำที่สุด และเงินเหลือในกระเป๋าติดลบ นอกจากนี้ ยังมีรายได้ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ปลูกทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเปรียบเทียบชาวนาไทย อินเดีย เวียดนาม และเมียนมาใน 4 ประเด็น คือ ต้นทุนการผลิต (ค่าแรง ค่าปลูก ค่าดูแลรักษา ค่าพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่าเช่าที่ดิน ฯลฯ) ผลผลิตต่อไร่ รายได้ และเงินเหลือในกระเป๋าช่วงปี 55-65 พบว่าปี 65 ต้นทุนการผลิตไทย เพิ่ม 2,058 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 5,898 บาท จากปี 55 ที่ 3,839 บาท ส่วนอินเดีย เพิ่ม 2,581 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 6,994 บาท จาก 4,412 บาท, เมียนมา เพิ่ม 1,420 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 4,574 บาท จาก 3,154 บาท และเวียดนาม เพิ่มต่ำสุด 1,027 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 5,098 บาท จาก 4,070 บาท

ส่วนผลผลิต ปี 65 ไทยลดลง 18 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ มาอยู่ที่ 445 กก. จาก 463 กก., อินเดีย เพิ่ม 133.6 กก. มาอยู่ที่ 1,107 กก. จาก 973 กก., เวียดนาม เพิ่ม 78.2 กก. มาอยู่ที่ 978 กก. จาก 900 กก. และเมียนมา เพิ่ม 170 กก. มาอยู่ที่ 664 กก. จาก 494 กก. ขณะที่รายได้และเงินเหลือในกระเป๋าไทยรายได้ลด 778 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 3,900 บาท จาก 4,678 บาท และเงินในกระเป๋าหายไป 1,160 บาทต่อไร่ จากที่มีเหลือ 838 บาท

สำหรับอินเดียรายได้เพิ่ม 1,817 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 11,116 บาท จาก 9,298 บาท และเงินหายไป 764 บาทต่อไร่ มีเงินเหลือ 4,122 บาท จาก 4,886 บาท, เวียดนามรายได้เพิ่ม 69 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 8,321 บาท จาก 8,252 บาท เงินเหลือในกระเป๋า ลดลง 958 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 3,223 บาท จาก 4,181 บาท และเมียนมา รายได้เพิ่ม 1,421 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 5,953 บาท จาก 4,532 บาท และมีเงินเหลือเพิ่ม 1.3 บาทต่อไร่ มาอยู่ที่ 1,379 บาท จาก 1,378 บาท

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับผู้ปลูกทุเรียน ยางพาราและปาล์มน้ำมัน พบว่า ชาวนามีรายได้ต่ำที่สุด และมีรายได้คงที่เฉลี่ย 3,600-4,500 บาทต่อไร่ ขณะที่ผู้ปลูกทุเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีรายได้สูงสุดที่ 33,531 บาทต่อไร่ ตามด้วยปาล์มน้ำมัน 24,451 บาทต่อไรและยางพารา 11,367 บาทต่อไร่

“ข้าวไทยวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์คือมีต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รายได้ต่ำ ทำให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้น โดยหนี้มาจากการกู้ยืมสหกรณ์ สถาบันการเงิน ร้านขายปัจจัยการผลิต เมื่อขายผลผลิตได้แล้วก็เอาเงินไปใช้หนี้ แต่ไม่เพียงพอ ทางปลดหนี้คือขายที่นาของตนเอง เอาเงินใช้หนี้แล้วเช่าที่นาของตนเองทำนาต่อ จากนั้นก็เข้าสู่วงจรอุบาทว์เหมือนเดิม ยิ่งทำนา ยิ่งหนี้เพิ่ม”

นายอัทธ์ กล่าวต่อว่า ข้าวไทยมีจุดอับ 10 จุด ที่ทำให้ข้าวไทยไม่ได้พัฒนา ได้แก่ 1.ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ แต่เวียดนาม 1,000 กก.ต่อไร่ 2.ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ เพราะไม่ได้ปรับปรุงศักยภาพการผลิต และลดต้นทุน 3.ปลดหนี้โดยขายที่นา นโยบายรัฐบาลไม่ได้ช่วยปลดหนี้ 4.แหล่งน้ำไม่พร้อม 5.เงินวิจัยเกี่ยวกับข้าวน้อยมาก โดยไทยใส่เงินวิจัยและพัฒนาเพียง 200 ล้านบาท แต่เวียดนาม 3,000 ล้านบาท ส่วนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

6.นโยบายแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งขัน และไม่ได้แก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง 7.ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม เพราะต้นทุนผลิตเพิ่ม แต่ผลผลิตต่อไร่ลด ราคาขายลด 8.ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ ที่ใส่ใจสุขภาพ และชอบข้าวหอม ข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น 9.เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง ทั้งความหอม ความนุ่ม และ 10.การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว เพื่อควบคุมคุณภาพที่เวียดนามทำได้ดีกว่า

“ฝากรัฐบาลใหม่ต้องแก้ปัญหาชาวนาและข้าวให้ตรงจุด เปรียบเทียบกับคู่แข่งเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร โดยรัฐอาจให้รางวัลคนที่เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนผลิตมากกว่าการแทรกแซง รวมถึงต้องปฏิรูปข้าวแบบครบวงจร โดยเอา 10 จุดอับมาแก้ไข ถ้าทำได้ ข้าวไทยมีอนาคตแน่นอน แต่ถ้าไม่ทำ จะสายเกินไป และข้าวไทยจะถดถอยลงเรื่อยๆ”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ